Onlinenewstime.com : การต่อสู้เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ที่ยาวนานและผ่านมาอย่างยากลำบาก ด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน
จนกระทั่งที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 130 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ เพื่อสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ที่ยาวนานมากว่า 22 ปี นับตั้งแต่วันที่กรมสุขภาพจิต ออกหนังสือรับรองทางวิชาการว่า “การรักเพศเดียวกัน ไม่ถือเป็นความผิดปกติทางจิต”
เช่นเดียวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จาก ภาพยนตร์เรื่อง If These Walls Could Talk 2 ได้รับความสนใจและความชื่นชมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้สนใจเรื่องราวของชาว LGBTQ+ เนื่องจากเนื้อหาที่แบ่งเป็น 3 เรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ+ 3 กลุ่มอายุในช่วงเวลาที่ต่างกัน สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับของสังคมที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในแต่ละยุคสมัย
เรื่องแรก: ปี 2504
เรื่องแรกเกิดขึ้นในปี 2504 เป็นเรื่องราวของ “ครูเกษียณ” ที่เพิ่งสูญเสียคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมายาวนานอย่างกระทันหัน และแม้ว่าเธอจะต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ทว่าสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น คือ ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า สิ่งที่เธอเคยถือเป็นของตนเอง เช่น บ้านที่เธออาศัยอยู่กับคู่รักหญิงรักหญิง มานานกว่า 30 ปี กลับกลายเป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถครอบครองได้อีกต่อไป เนื่องจากกฎหมายและสังคมในยุคนั้นไม่ได้ยอมรับความสัมพันธ์ของ LGBTQ+
ภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึง “การถูกกีดกันและการไม่ยอมรับ” ในสังคมยุค 60 การพูดถึง คู่รักเพศเดียวกัน ในสังคมยุคนั้นเป็นเรื่องที่ห้ามพูดถึง โดยเฉพาะในฉากโรงพยาบาลที่ Redgrave พยายามจะหาข่าวสารเกี่ยวกับ “เพื่อน” ของเธอ เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจและเห็นความสำคัญของการยอมรับความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน
เรื่องที่สอง: ปี 2515
เรื่องที่สอง เกิดขึ้นในปี 2515 เป็นเรื่องราวความรักของ “นักศึกษามหาวิทยาลัย” ที่มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย เรื่องราวนี้ทำให้เราเห็นถึง “การค้นหาตัวตน” และการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมที่เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แม้ว่าจะยังคงมีความท้าทายและอุปสรรคอยู่ก็ตาม
เรื่องที่สาม: ปี 2543
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องราวของคู่รักหญิงรักหญิง ที่พยายามหาวิธีการมีลูก เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นในการสร้างครอบครัวของคู่รัก LGBTQ+ ในยุคที่สังคมเริ่มยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ถือว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่ทำออกมาได้อย่างประณีตและสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับของสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ ได้อย่างยอดเยี่ยม
การเปิดรับของสังคมไทยในปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบกับสังคมไทยในปัจจุบันสังคมมีการเปิดรับและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต มีการพัฒนาและความก้าวหน้าที่น่าสนใจ
แต่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยุคเริ่มต้น ที่เป็นช่วงเวลาของการจุดเทียนเล่มแรกของการต่อสู้ โดยเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มหญิงรักหญิง อาทิ กลุ่มอัญจารี ที่ก่อตั้งในปี 2529 ด้วยผู้บุกเบิก 4 คน พวกเขาได้ทำงานเพื่อสิทธิและการยอมรับของกลุ่ม LGBTQ+ ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มชายรักชายบางส่วนรวมกันเป็นกลุ่มฟ้าสีรุ้ง รวมถึงกลุ่มบางกอกเรนโบว์ ฯลฯ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ ท่ามกลางการต่อต้านจากสังคมที่มองว่าพวกเขาเป็นความต่าง พวกเขาพยายามสร้างสังคมที่มีความเข้าใจและการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศ ค่อยๆ ประคับประคองกันมาอย่างอดทน จนกลายเป็นแสงสว่าง ที่นำมาสู่ความสำเร็จในการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยในวันนี้
ยุคแรกของการต่อสู้
การเคลื่อนไหว ที่นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ทำให้เกิดความเท่าเทียมและการยอมรับในสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้นในประเทศไทย
ในปี 2544 กลุ่มอัญจารี ทำหนังสือถึงกรมสุขภาพจิต และได้การตอบรับว่า “การรักเพศเดียวกัน ไม่ถือเป็นความผิดปกติทางจิต” หรือการทำหนังสือถึงสถาบันราชภัฎ กรณีที่มีการออกกฎระเบียบ ห้ามไม่ให้เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ ในช่วงปี 2540 ถือเป็นยุคแรกของการต่อสู้เพื่อสิทธิและการยอมรับในสังคมไทยที่เริ่มต้นขึ้น
“อัญชนา สุวรรณานนท์” เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยตัวเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิและนำเรื่องราวต่างๆให้เข้าสู่การสนทนาในสังคม ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบที่กีดกัน LGBTQ+ ในประเทศไทย กล่าวว่า
” ในช่วงแรกๆ ของการต่อสู้ หลายองค์กรสิทธิความหลากหลายทางเพศได้แลกเปลี่ยนความคิดและพยายามหาข้อเสนอที่ทุกกลุ่มสามารถจัดทำร่วมกันได้ ซึ่งข้อสรุป คือ สิทธิการสมรสและการสร้างครอบครัว “เล็ก ฉันทลักษณ์” อดีตผู้ประสานงานกลุ่มอัญจารีและมีบทบาทในการเสนอความคิดนี้ต่อสาธารณะ”
ในขณะเดียวกัน “ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่” ผู้ทำงานด้านประสานงานและเป็นกองบรรณาธิการจุลสารของกลุ่มอัญจารี ต่อเนื่องมาจนถึงกลุ่มสะพานและมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ได้เล่าถึงการเดินทางอันยาวนานที่นำไปสู่ประวัติศาสตร์การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว “ออนไลน์นิวส์ไทม์” ว่า
“พี่แตงอัญชนา เป็นคนทำคนแรก และก็ทำอยู่คนเดียว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าคนอื่นๆเขาเปิดตัวไม่ได้ ก็เลยมีพี่แตงคนเดียว ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ หลังจากนั้นเราก็จัดเวทีสัมมนาเชิญนักวิชาการมาพูดคุย ในประเด็นเรื่องการห้าม LGBTQ+ กะเทยทอมดี้เข้าเรียนในสถาบันราชภัฏ เพราะกฎของสถาบันราชภัฏในปี พ.ศ. 2540 ที่ไม่อนุญาตให้ เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้น พี่แตงก็ไปต่อสู้จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลานั้น น่าจะเป็น คุณสุขวิช รังสิตพล
ในช่วงเริ่มต้น มีสมาชิกไม่เกิน 10 คนที่เข้ามาช่วย จากการนัดพบปะกันครั้งแรกตามที่มีการประชาสัมพันธ์ในหนังสือแปลก ก็เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเราเช่นกัน ช่วงแรกที่เข้ามาช่วยก็ยังไม่ได้ทำกิจกรรมรณรงค์อะไรมากมาย เพราะเราเป็นเด็ก จึงมาช่วยทำในงานที่ถนัด เพราะเราอยู่ในแวดวงหนังสือ ก็ได้เข้ามาช่วยทำจุลสาร มาจนถึงอัญจารีสารก็ทำมาตั้งแต่วันนั้นเลย”
หลังจากนั้นก็เป็นประเด็นเรื่องของการทำจดหมายไปที่กรมสุขภาพจิต เพราะเราคิดว่ามันเป็นหน้าที่โดยตรงของเขา คุณต้องออกมาพูดไม่อย่างนั้นมันจะสร้างอคติ เราเลยเขียนจดหมายไปเพื่อให้รับรองว่า การรักเพศเดียวกัน ไม่ถือเป็นความผิดปกติทางจิต โดยอ้างอิงจากประกาศของ WHO วันนั้นที่เข้าไปที่กรมสุขภาพจิต เราก็ไม่ได้ไปคนเดียว ไปกับพี่จากฟ้าสีรุ้ง ตอนนั้นยังไม่มีชื่อฟ้าสีรุ้งค่ะ เป็นสมาคม กับพี่อีกท่านหนึ่ง
“หลังจากทำเรื่องกรมสุขภาพจิต ก็ได้มารู้จักกับกรรมการสิทธิมนุษยชน ประมาณปี 2546 ก็รู้สึกว่าอยากทำงานกับเขา ในตอนนั้นเราต้องคิดตั้งแต่คำเรียก เพราะไม่ได้มีคำว่าหลากหลายทางเพศในสมัยนั้นเราต้องมาคิดว่าเราจะใช้คำเรียก LGBTQ+ ว่าอะไรดี คำนิยามของ Transgender เราจะเรียกว่าอะไร เพราะในสังคมวันนั้นเรียกว่าคนแปลงเพศ มีการคุยกันอยู่หลายเรื่อง “ซึ่งก็มองว่าเราต้องมาดูเรื่องสิทธิให้มันเกิดขึ้นให้ได้”
เพราะนอกจากเรื่องที่เราต่อสู้มายังมีเรื่องอื่นๆที่เป็นปัญหาที่ชัดเจน เช่น เรื่องของคนที่เป็นกะเทยไปเกณฑ์ทหาร ก็ได้รับการผ่อนผัน แต่ใบสด. 43 ของเค้าถูกระบุว่าเป็นโรคจิต เป็นเหตุผลที่พวกเขาจะไม่ได้รับงานทำ ฉะนั้นเราเลยทำเรื่องนี้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนไม่ได้ง่ายดายเลย เนื่องจากต้องฟ้องศาล“ ฉันทลักษณ์ กล่าว
เป็นที่มาของการทำงานร่วมกัน โดย “นัยนา สุภาพึ่ง” กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก ที่นำประเด็นนี้ไปฟ้องต่อศาลปกครองว่า กระทรวงกลาโหม ไม่ควรใช้คำนั้น
โดยใช้ “จดหมายจากกรมสุขภาพจิต” เป็นเอกสารอ้างอิงในการยื่นฟ้อง ซึ่งเป็นช่วงที่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่และในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 มีการอ้างอิงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศว่าห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งเหตุแห่งเพศนี้รวมถึงคนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
นับว่าบันทึกเจตนารมณ์นี้เป็นหลักฐานทางกฎหมายที่ชัดเจน ในการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้แก้ไขใบสด. 43 ที่ระบุว่าเป็นโรคจิตและส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถทำงานหรือสมัครงานได้ ศาลปกครองตอบรับและให้กระทรวงกลาโหมทำการแก้ไข เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิ์จริง ๆ ในขณะนั้นมีหลายองค์กรและเครือข่ายเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหานี้
จุดเริ่มต้นของกฏหมายสมรสเท่าเทียม
ในปี 2555 “นที ธีรโรจน์รังสรรค์” ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าสิทธิมนุษยชนของเขาถูกละเมิด เพราะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่ชายรักชายที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ เพราะถูกปฏิเสธจากที่ว่าการอำเภอ
ต่อมาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้เข้าสู่คณะกรรมาธิการรัฐสภาด้านสิทธิประชาชน และผลจากการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน เสนอให้จัดทำกฎหมายอนุญาตให้ “จดทะเบียนคู่ชีวิต” แทนการแก้ไขกฎหมายสมรส
ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้เรียกร้องสิทธิ เนื่องจากเห็นว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่เท่าเทียมกับการสมรส และไม่ได้ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนที่ว่า “คนทุกคนเท่ากัน” กลุ่มผู้เรียกร้องหลายคนไม่พอใจและทำจดหมายทักท้วงด้วยเหตุผลหลายประการ
มีบางฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวทางของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น “นที” ขณะที่มูลนิธิเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศเสนอร่าง พรบ. คู่ชีวิตจากฝั่งประชาชน ส่วนกลุ่มอัญจารี สมาคมฟ้าสีรุ้ง และนักกิจกรรมด้านสิทธิบางส่วน และนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนหนึ่งยังคงยืนยันว่าต้องแก้ไขกฎหมายสมรส
สถานการณ์นี้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวแตกเป็นสองฝ่ายและเกิดความสับสนในกลุ่มนักกิจกรรม ที่รณรงค์เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ต่อมา มีการรัฐประหารทำให้สภาปิดและการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องถูกยุติลง
การเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา
ในปี 2556 มีการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรกขึ้นมา โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และถัดมาในปี 2557 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โดย “นัยนา สุภาพึ่ง ” ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับประชาชน แต่กลุ่มอัญจารี โดย”อัญชนา” เห็นว่าควรเสนอแนวทางสมรสเท่าเทียมแทน โดยชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศเป็นการสร้างความเท่าเทียมที่แท้จริง ประเด็นที่ร่างคู่ชีวิตไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส
ในระหว่างการต่อสู้ ยังมีความเห็นต่างกันเอง เช่น มีการเสนอให้จัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งกลุ่มบางส่วนยอมรับ แต่กลุ่มอัญจารี นักกิจกรรมสิทธิ และนักวิชาการ ยังคงยืนยันให้แก้ไขเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม กับคู่สมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“สิทธิที่เท่าเทียมของทุกคน จะได้จริงๆ ก็เมื่อมีการแก้กฎหมายให้คู่ทุกรูปแบบใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน การกำหนดให้ใช้กฎหมายคนละฉบับ ในการสร้างครอบครัว จะทำให้เกิดปัญหาในการใช้กฎหมาย และคู่ที่ไม่ใช่เพศตรงข้ามไม่ได้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันกับคู่เพศตรงข้ามเพราะโดนบังคับให้ใช้กฎหมายคู่ชีวิต มันเท่ากับเป็นการกีดกันโดยทางกฎหมาย จึงไม่เป็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริง”
ในช่วงเวลานั้นร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตไม่ผ่าน แต่ข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ไม่ผ่านเช่นกัน
การรณรงค์และความพยายามที่ต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. 2558 เวทีเสวนา “เพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสไม่ได้ มีช่องทางกฎหมายใดบ้างที่ช่วยคุ้มครองชีวิตคู่และครอบครัวที่หลากหลาย” ได้จัดขึ้นโดยมูลนิธิอัญจารีและพันธมิตร ทำให้อัญชนาได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่รักเพศเดียวกันซึ่งไม่สามารถได้รับสิทธิที่คู่รักต่างเพศมี เช่น การรับสวัสดิการ การทำธุรกรรมทางการเงิน และการรับบุตรบุญธรรม นี่เป็นการกระตุ้นให้มีการรณรงค์เพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง
ผู้บุกเบิกการศึกษากฎหมายสมรส
นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอีกคน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันสิทธินี้ และยึดแนวทางสมรสเท่าเทียมมาตลอด “ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร” มีบทบาทสำคัญในการศึกษากฎหมายสมรสและเสนอแนวทางการแก้ไขที่เท่าเทียม แม้ว่าไม่ใช่นักกฎหมายโดยอาชีพ แต่เขาได้ใช้ความรู้และความสามารถในการศึกษากฎหมาย เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมละหาวิธีแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียม โดยในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขา ได้เขียนร่างกฎหมายสมรสที่ควรเป็นเมื่อแก้ไขแล้วเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
ต่อมา ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ได้ถูกใช้เป็นแนวทางในข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ รวมถึงพรรคการเมืองและเครือข่ายภาคประชาชนในปัจจุบัน
การรับช่วงต่อของรุ่นใหม่ ความสำเร็จในปัจจุบัน
การต่อสู้เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยาวนานและซับซ้อน มีหลายบุคคลและกลุ่มที่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ จนในที่สุดสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในวันนี้ได้
คนที่เริ่มต้นต่อสู้อาจดูเป็นผู้ที่ประสบกับความยากลำบากที่สุด แต่แท้จริงแล้ว ทุกยุคทุกสมัยต่างมีความยากลำบากในแบบของตัวเอง การต่อสู้ในยุคแรกๆ อาจยากที่สุดในแง่ของการเผชิญกับการต่อต้านและการขาดการสนับสนุนจากสังคม ส่วนยุคต่อมาก็ต้องเผชิญกับการสร้างความเข้าใจและยืนยันหลักการที่สำคัญ
เช่นเดียวกับในยุคปัจจุบันนี้ ที่การรณรงค์สมรสเท่าเทียมได้รับการผลักดันอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2563 เฟมมินิสต์ปลดแอก กลุ่มเสรีเทยย์พลัส กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มที่ เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศ ขอให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส เพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียมขึ้นในประเทศไทย
นับว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวนี้ พวกเขาใช้ Social Media เช่น Twitter เป็นเครื่องมือหลักในการเผยแพร่ข้อมูลและเรียกร้องสิทธิ ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยเปิดรับและยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากคนหลากหลายที่กว้างขวางในสังคมมากขึ้น
ซึ่งแตกต่างจากวิธีการทำงานในการต่อสู้ในยุคแรก อาทิ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ที่เน้นการทำงานเชิงวิชาการและวิจัยเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ กับนักกิจกรรมและกลุ่มประชาสังคมทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเปิดตัวเป็น LGBTQ+ อย่างเปิดเผย การสนับสนุนจากภาคการเมือง ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในสภาและในสังคมทั่วไปเปิดรับมากขึ้น
ช่วงนี้ การประสานงานหลักอยู่ที่ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ที่ช่วยเป็นกลไกหลักประสานความร่วมมือ และพลังจากหลายๆส่วน หลายๆองค์กร และผู้ที่หลายๆคนยกย่องว่าสามารถประสานความร่วมมือได้หลากหลายฝ่ายได้อย่างมีพลังคือ วาดดาว หรืออรรณว์ ชุมาพร
โดยเฉพาะในการนำเสนอประเด็น การสมรสเท่าเทียม ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยแกนนำของเครือข่าย ภาคประชาชน พานักสิทธิด้านความหลากหลายทางเพศที่ทำประเด็นอื่นไปเข้าพบด้วย เช่น ด้านการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง
ความเคลื่อนไหวต่างๆ จึงเป็นที่มาของความสำเร็จล่าสุด ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านที่ประชุมวุฒิสภา มติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ด้วยคะแนน เห็นด้วย 130 ไม่เห็นด้วย 4 งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 และหลังจากนั้น จะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีและภริยา” เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยกำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนการหมั้น กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเป็นเพศใดสามารถหมั้นกันได้ตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น รวมถึงกรณีคู่สมรสเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก การแบ่งทรัพย์มรดกกรณีคู่สมรสผู้ตายเป็นเจ้ามรดก และการจัดการหนี้สินของคู่สมรส เป็นต้น
ความท้าทายในการยอมรับสมรสเท่าเทียม
การต่อสู้เพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียมในไทยเริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความกล้าหาญและความตั้งใจในการทำงาน จากยุคแรกที่เผชิญกับอุปสรรคและการไม่ยอมรับ จนถึงการรับช่วงต่อจากรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นและความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของหลายคน หลายองค์กร และหลายรุ่น
ถึงแม้จะมีการเริ่มต้นเพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่ความยากลำบากยังคงอยู่ที่การเปลี่ยนวิธีคิดของคนและสร้างการยอมรับ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่มักยึดถือความเชื่อและทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นชัยชนะทั้งหมด เพราะยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง
การยอมรับและการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไป ด้วยความพยายามและการทำงานของกลุ่มอัญจารีและองค์กรต่าง ๆ เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงและความหวังในการสร้างสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับทุกความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น