fbpx
News update

หมอเด็กเตือนผู้ปกครอง เปิดเทอมเสี่ยงโควิด-19 แนะวิธีป้องกันให้ปลอดภัย

Onlinenewstime.com : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนเข้าฤดูฝน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดภาคเรียน เด็ก ๆ เสี่ยงรับเชื้อไวรัสโควิด 19 เพิ่มขึ้น แนะผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกต เฝ้าระวังบุตรหลานให้สวมหน้ากากอนามัยไปโรงเรียน และฉีดวัคซีนให้ครบตามช่วงวัยเพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรค

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ เด็กเสี่ยง
ที่จะได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถึงแม้ความรุนแรงจะน้อยกว่าที่ผ่านมา ในการติดเชื้อของเด็กอายุ 5 – 11 ปี โดยตามปกติเด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการ ไข้ ไอ จาม น้ำมูก เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง คือ อาการอ่อนเพลีย ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตาแดง และกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไตวาย หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

ดังนั้น ควรงดสัมผัสหรือหอมแก้มเด็กเล็กโดยไม่จำเป็น การรักษาในเด็กเหมือนกับการรักษาในผู้ใหญ่ คือจะรักษาตามอาการ ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยไปโรงเรียน สอนให้เด็กรู้จักล้างมือก่อนรับประทานอาหาร เมื่อป่วยควรหยุดเรียนเพื่อพักผ่อนให้หายดีก่อน

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า
วิธีดูแลลูกเมื่อลูกติดโควิด 19 โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ปรอทวัดไข้ ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ส่วนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไม่ค่อยมีความจำเป็น เนื่องจากสายพันธุ์ในปัจจุบันไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการปอดบวม

นอกจากนั้นการจับออกซิเจนปลายนิ้วในเด็ก มักจะไม่ค่อยแม่นยำ เพราะขนาดของเครื่องไม่กระชับกับนิ้วของเด็กที่มีขนาดเล็ก จึงเน้นให้สังเกตอาการเป็นหลัก การรักษาเบื้องต้น คือ การประคับประคองตามอาการ

1. เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูง ไม่เกิน 2 – 3 วัน จะค่อย ๆ ดีขึ้น

2. มีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

3. อาการไอ ให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการและจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ

4. หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบพาเด็กพบแพทย์ทันที

การป้องกันโรคโควิด 19 สามารถทำได้โดย 1) หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ 2) ล้างมือบ่อย ๆ 3) สวมใส่หน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตามโรคโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง แนะนำผู้ปกครองหมั่นดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนให้ครบตามช่วงวัย