Onlinenewstime.com : ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society ) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และสถิติเปิดเผยว่า 1 ใน 10 ของประชากรไทย เป็นประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
จากนี้ไปในอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้า ในปี 2564 ประเทศไทย จะก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5
และจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ประมาณการภายในอีก 20 ปีต่อจากนี้ คือใน พ.ศ. 2578 ที่โครงสร้างทางประชากรของไทย จะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ลองมาดูตัวเลขประชากรกลุ่มผู้สูงอายุของไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ว่ามีความเปลี่ยนแปลง หรือแนวโน้มอย่างไร เพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้
โครงสร้างประชากรของไทยในปี 2562 แสดงให้เห็นสัดส่วนของวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 1 – 14 ปี) อยู่ที่ 16.45% ในขณะที่วัยทำงาน อายุระหว่าง 15-59 ปี คิดเป็นประมาณ 64.37% และกลุ่มผู้สูงอายุมีตัวเลขสูงถึง 16.73%
จำนวนผู้สูงอายุในรอบ 4 ปี ที่แตะ 11.14 ล้านคนในปี 2562 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุหญิงมากกว่า คิดเป็น 18.31% และผู้สูงอายุชาย 15.09% จากจำนวนประชากรทั้งหมด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด ที่ 3.53 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลาง (3.22 ล้านคน) ภาคเหนือ (2.29 ล้านคน) ภาคใต้ (1.38 ล้านคน) และภาคตะวันออก (0.72 ล้านคน) ตามลำดับ
5 จังหวัดมีประชากรสูงอายุมากที่สุด
กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่ครองแชมป์จำนวนผู้สูงอายุสูงที่สุด มีตัวเลขที่ 1.06 ล้านคน รองอันดับ 2 คือ นครราชสีมา ที่จำนวน 4.5 แสนคน เชียงใหม่ เป็นอันดับ 3 ที่ 3.3 แสนคน อันดับ 4 ขอนแก่น 3.1 แสนคน และอุบลราชธานี อันดับที่ 5 จำนวน 2.7 แสนคน
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณา % จำนวนผู้สูงอายุ เทียบกับจำนวนประชากรรายจังหวัด 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด คือ สิงห์บุรี ผู้สูงอายุจำนวน 4.8 หมื่นคนจากจำนวนประชากร 2.08 แสนคน คิดเป็น 23.09% ลำปาง 1.7 แสนคน จาก 7.3 แสนคน (23.03%) ลำพูน 9.2 หมื่น จาก 4.05 แสนคน (22.95%) แพร่ 1 แสนคน จาก 4.41 แสน คิดเป็น 22.84% และสมุทรสงคราม 4.3 หมื่นคน จาก 1.93 แสน (22.25%)
เรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของทุกภาคส่วน เพราะเป็นภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งภาคธุรกิจ ก็ให้ความสนใจ จับตามอง เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม ศึกษาในทิศทางและแนวโน้ม เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ และกำหนดแผนในการรับมือ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีกับประเทศจากสังคมสูงอายุ มีตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ ปัญหาการยังชีพของผู้สูงอายุ และงบประมาณการดูแลด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ที่จะขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในด้านนโยบายของรัฐ ที่เห็นว่ามีการเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ มีอยู่ 5 ยุทธศาสตร์ในการรองรับของกรมกิจการผู้สูงอายุ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุ อย่างบูรณาการระดับชาติ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประมวล การพัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุและการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ
(อ่านฉบับเต็ม ตามลิงค์นี้ )