fbpx
News update

วิศวะมหิดล เปิดสัมมนา “หุ่นยนต์ทางการแพทย์” สานพลังจัดตั้ง “สมาคมวิชาการหุ่นยนต์และ AI ทางการแพทย์ประเทศไทย”

Onlinenewstime.com : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี เป็นประธานจัดงานสัมมนา เรื่อง หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics Seminar) ภายใต้โครงการ Reinventing University: Mahidol Medical Robotics Platform ณ โรงแรมแมนดาริน

โดยมี ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประชาคมหุ่นยนต์จากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมแชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และผนึกเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ โดยพร้อมใจรวมพลังเตรียมจัดตั้ง “สมาคมวิชาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ประเทศไทย”

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นประธานจัดงาน Medical Robotics Seminar กล่าวว่า บทบาทของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics) ก้าวไปไกล ด้วยความมุ่งมั่นของนวัตกร นักวิจัยไทยและทั่วโลกที่คิดค้นวิจัยและต้องการนำจุดเด่นนวัตกรรมหุ่นยนต์มาพัฒนาการบำบัดรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยอย่างแม่นยำ

ช่วยให้แพทย์ดูแลอำนวยการบำบัดรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำให้เทคโนโลยี การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เชื่อมต่อบูรณาการเป็นระบบเดียวกัน สามารถบรรลุเป้าหมายของการรักษาได้อย่างมีคุณภาพ แม่นยำ และช่วยชีวิตประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

งาน Medical Robotics Seminar ได้รับความสนใจจากนวัตกร วิศวกร นักวิจัย เมคเกอร์ นักวิชาการ แพทย์ หลายองค์กรและสถาบันการศึกษาเข้าร่วมงาน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) องค์การอาหารและยา (อย.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท InnoSpace Thailand และองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ

โดยผู้เชี่ยวชาญได้เปิดมุมมองในภูมิทัศน์ใหม่ของการวิจัยหุ่นยนต์การแพทย์ในโลก เผยประสบการณ์ผ่าตัดสมองและระบบประสาทบูรณาการ  แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเทคโนโลยี‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล’ และ ‘หุ่นยนต์นิ่ม’ หรือ Soft Robot ซึ่งได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและการแพทย์อย่างแพร่หลายมากขึ้น

สามารถตอบโจทย์การใช้งานบางประเภทที่ต้องการความยืดหยุ่นและความละเอียดอ่อน อาทิ การเข้าถึงอวัยวะ และการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเครื่องมือผ่าตัดทั่วไปไม่สามารถทำได้

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์  สรุปท้ายว่า ผลของการสัมมนายังนำไปสู่ข้อสรุปในการสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา (People Mobility) การสร้างหลักสูตร Medical Robotics and AI ร่วมกันหลายมหาวิทยาลัย

นำโดย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

ตามแนวนโยบาย Higher Education Sandbox ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และที่สำคัญ คือการผนึกกำลังความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ของไทย ในการจัดตั้ง “สมาคมวิชาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ประเทศไทย

ทั้งนี้โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศสนับสนุน อาทิ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ออฟ ลอนดอน สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวตง ประเทศจีน

นับว่าเป็นขุมพลังแห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าของหุ่นยนต์การแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และดิจิทัลเฮลท์แคร์ในประเทศไทย เพื่อยกระดับนวัตกรรม คุณภาพชีวิตของคนไทย และประชาคมนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

error: Content is protected !!