Onlinenewstime.com : แคนนอน (CANON) ประกาศฉลองชัย ตอกย้ำความสำเร็จในการผลิตกล้องแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ในซีรีส์ EOS ครบ 110 ล้านตัว[1] เมื่อเดือนมีนาคมและผลิตเลนส์ RF/EF แบบถอดเปลี่ยนได้ครบ 160 ล้านตัว[2] เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยกล้องในซีรีส์ EOS ที่ผลิตเป็นตัวที่ 110 ล้านคือรุ่น EOS R6 Mark II (เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2565) ในขณะที่เลนส์ตัวที่ 160 ล้าน เป็นเลนส์รุ่น RF100mm F2.8 L MACRO IS USM (เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564)
ยอดการผลิตกล้องในซีรีส์ EOS 110 ล้านตัว ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ “Speed, Comfort and High Image Quality” ของแคนนอน
ระบบ EOS หรือ Electro Optical System สอดคล้องกับชื่อเทพีแห่งรุ่งอรุณในเทพปกรณัมกรีก โดยกล้องระบบ EOS ของแคนนอนเปิดตัวพร้อมกับเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้ในซีรีส์ EF ในเดือนมีนาคม 2530 โดยเป็นเลนส์เมาท์ระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบสำหรับกล้องฟิล์ม SLR ที่มาพร้อมระบบออโต้โฟกัสครั้งแรกของโลก
โดยในยุคแรกของกล้องดิจิทัล SLR แคนนอนได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ของวงการด้วยการเปิดตัวกล้องดิจิทัล EOS Kiss ในเดือนกันยายน 2546 (ภายใต้ชื่อรุ่น EOS Digital Rebel หรือ EOS 300D ในบางภูมิภาค)
และนับแต่นั้นเป็นต้นมา แคนนอนยังคงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกล้องสำหรับมืออาชีพในซีรีส์ EOS-1D และซีรีส์ EOS 5D ซึ่งเป็นอีกก้าวที่นำไปสู่การเป็นกล้อง DSLR ที่ใช้ในการบันทึกวิดีโออีกด้วย
ความมุ่งมั่นของแคนนอนในการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์บันทึกภาพเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาระบบใหม่อย่าง EOS R System ซึ่งเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งกล้องในซีรีส์ EOS ของแคนนอนได้กระแสตอบรับและการสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างล้นหลามตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนทำ
ให้บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก[3] ในอุตสาหกรรมกล้องดิจิทัล SLR ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2565 โดยแคนนอนสามารถผลิตกล้องซีรีส์ EOS ครบ 110 ล้านตัว เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
เส้นทางการผลิตเลนส์ RF/EF ครบ 160 ล้านตัว สู่ความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมแห่งการบันทึกภาพขั้นสูง
เลนส์ EF เอกสิทธิ์ของแคนนอนซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2530 พร้อมกับระบบกล้อง SLR ซีรีส์ EOS ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัว และก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมจากการผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ซึ่งรวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีมอเตอร์อัลตร้าโซนิค ( Ultrasonic Motor: USM) ระบบป้องกันภาพสั่นไหว (Image Stabilizer: IS) และชิ้นเลนส์ลดความคลาดสี (Multilayered Diffractive Optical: DO) เป็นรายแรกของโลก
ด้วยการเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์ RF ซึ่งมอบคุณภาพขั้นสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านการใช้รูรับแสงขนาดใหญ่และระยะท้ายเลนส์ที่สั้นร่วมกับระบบการส่งสัญญาณความเร็วสูง
ถือเป็นจุดเด่นของระบบ EOS R ที่เปิดตัวเมื่อปี 2561 ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์ทั้งหมดจึงมีมากถึง 115 รุ่น ช่วยขยายขีดความสามารถในการบันทึกภาพให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ฉลองการผลิตเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้ในกลุ่มซีรีส์ EOS ครบ 160 ล้านตัว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
การยกระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่เป็นเอกสิทธิ์ของแคนนอนอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้สามารถเสริมความแข็งแกร่งและขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ EOS ได้อย่างต่อเนื่องร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์ RF และ EF โดยมุ่งมั่นขยายขีดจำกัดของการถ่ายภาพ พร้อมร่วมพัฒนาวัฒนธรรมการถ่ายภาพและวิดีโอให้แพร่หลายต่อไป
กล้องซีรีส์ EOS
กล้องซีรีส์ EOS เป็นระบบกล้อง SLR ที่มาพร้อมระบบออโต้โฟกัสรุ่นใหม่ที่ใช้เมาท์อิเล็กทรอนิกส์และการควบคุมแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มระบบเป็นครั้งแรกของโลก เปิดตัวด้วยกล้อง EOS 650 เป็นรุ่นแรกของซีรีส์และวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2530
เมื่อกล้องฟิล์มได้รับความนิยมถึงขีดสุด แคนนอนจึงเปิดตัวกล้องอีกหลายรุ่นให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้งาน ซึ่งรวมถึงรุ่น EOS-1 เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2530 ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ และรุ่น EOS Kiss เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2536 (ภายใต้ชื่อรุ่น EOS Rebel XS หรือ EOS 500 ในบางภูมิภาค)
ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา จึงช่วยขยายฐานผู้ใช้งานกล้องแคนนอนได้อย่างมาก หลังจากนั้นในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ของยุคกล้องดิจิทัล บริษัทยังได้เปิดตัวกล้อง EOS Kiss Digital ที่สร้างกระแสฮือฮาในประเทศญี่ปุ่น (ภายใต้ชื่อรุ่น EOS Digital Rebel หรือ EOS 300D Digital ในบางภูมิภาค) ซึ่งเป็นกล้องดิจิทัล SLR ระดับเริ่มต้นขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ในระดับราคาย่อมเยา
ถือว่าการพัฒนาครั้งนี้ได้เร่งการขยายตลาดกล้องของบริษัทฯ ให้กว้างขึ้นอย่างมาก ทำให้แคนนอนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดของปีนั้นได้อย่างโดดเด่น และด้วยการเปิดตัวกล้องซีรีส์ EOS-1D สำหรับมืออาชีพ และซีรีส์ EOS 5D ทำให้กล้อง SLR เป็นที่นิยมในการใช้ถ่ายวิดีโอและทำให้แคนนอนกลายเป็นผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เปิดศักราชใหม่แห่งการบันทึกภาพอย่างแท้จริง
ในเดือนตุลาคม 2561 แคนนอนได้เปิดตัวระบบ EOS R System โดยเปิดตัวกล้อง EOS R เป็นรุ่นแรก และกล้อง EOS R5 เป็นรุ่นแรกที่มาพร้อมคุณสมบัติการบันทึกวิดีโอระดับ 8K ที่เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2563
ตามมาด้วยกล้องรุ่น EOS R3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีคุณสมบัติติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถที่เคลื่อนที่เร็วและประสิทธิภาพในการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังมีกล้อง EOS R100 ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบาเพื่อขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2564 แคนนอนยังได้เปิดตัวระบบ EOS VR System ซึ่งออกแบบมาเพื่องานบันทึกวิดีโอในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) และด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าแคนนอนยังคงแสวงหาศักยภาพใหม่ ๆ ในด้านการบันทึกภาพอย่างต่อเนื่อง
เลนส์แคนนอนตระกูล RF และ EF
หลังจากการเปิดตัวเลนส์ EF รุ่นแรกพร้อมกับกล้องซีรีส์ EOS ในเดือนมีนาคม 2530 แคนนอนได้นำเสนอเทคโนโลยีเลนส์ขั้นสูงครั้งแรกของโลกอีกมากมาย ทั้งในเลนส์รุ่น EF75-300mm f/4-5.6 IS USM ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวโดยเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2538 เลนส์รุ่น EF400mm f/4 DO IS USM ที่ใช้ชิ้นเลนส์ DO เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2544
และยังเปิดตัวเลนส์รุ่น EF24mm f/1.4L II USM ที่ใช้เทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์ด้วยสารลดแสงสะท้อนขั้นสูง (Subwavelength Structure Coating: SWC[4]) ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2551 และต่อมาในปี 2561 แคนนอนได้เปิดตัวเลนส์รุ่น RF28-70mm f/2L USM เลนส์ซูมมาตรฐานที่ที่ค่ารูรับแสงคงที่ f/2 ตลอดช่วงการซูม[5] ตัวแรกของโลก
และในเดือนพฤษภาคม 2566 บริษัทเปิดตัวเลนส์ซูมเทเลโฟโต้เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่รุ่น RF100-300mm f/2.8L IS USM ที่ส่งมอบทั้งคุณภาพระดับสูงและคุณสมบัติการพกพาที่สะดวกสบายไว้ในหนึ่งเดียว
วันนี้ แคนนอนมีเลนส์ทั้งหมด 115 รุ่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์ RF และ EF ซึ่งครอบคลุมเลนส์ต่างๆ เช่น เลนส์ทางยาวโฟกัสมุมกว้างพิเศษระยะ 5.2 มม. เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ทางยาวโฟกัส 1200 มม. และเลนส์ซีเนมา EF สำหรับงานผลิตวิดีโอ
ด้วยการนำเสนอเลนส์ที่หลากหลายและตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ซึ่งมีทั้งเลนส์ซูม เลนส์ที่มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้าง เลนส์มาโคร เลนส์ VR และแม้แต่เลนส์ทิลท์ชิฟที่สามารถปรับแก้องศาของชิ้นเลนส์ได้ ทำให้แคนนอนสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้งานในปัจจุบันได้ครอบคลุมมากที่สุด
[1] ยอดขายรวมของกล้องฟิล์ม และกล้องดิจิทัล รวมถึงกล้องถ่ายภาพยนตร์สำหรับงานผลิตวิดีโอ
[2] รวมเลนส์ภาพยนตร์และอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ในซีรีส์ EF, EF-S, RF, RF-S, EF-M และ EF
[3] ในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดตามจำนวนที่จำหน่ายได้ จากการวิจัยของแคนนอน
[4] Subwavelength Structure Coating คือเทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์ชนิดพิเศษที่มอบคุณสมบัติการป้องกันแสงสะท้อนได้อย่างดีเยี่ยม
[5] ในกลุ่มเลนส์ถอดเปลี่ยนได้ที่รองรับระบบออโต้โฟกัสตลอดระยะการซูมมาตรฐาน และใช้ได้กับกล้องฟูลเฟรมเซ็นเซอร์เทียบเท่า 35 มม. ตามข้อมูลการวิจัยของแคนนอน