Onlinenewstime.com : จากข้อมูลย้อนหลังจำนวนประชากร 200 ประเทศทั่วโลกในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจาก Population Pyramid ทำให้เห็นทั้งความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประเด็น
ประชากรของแต่ละภูมิภาค
จำนวนประชากรตามภูมิภาค แสดงให้เห็นสัดส่วนว่า ประชากรกว่า 60% อยู่ในทวีปเอเชีย ตามมาเป็นลำดับ คือ แอฟริกา 17% อเมริกา 13% ยุโรป 9.5% โอเชียนเนีย (Oceania – กลุ่มของหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก) 0.5%
10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด
อันดับที่ 1 ของประเทศที่มีประชากรสูงสุดยังคงเป็นตำแหน่งของ ประเทศจีน โดยมีอินเดียตามมาเป็นอันดับที่ 2 ซึ่ง 2 อันดับต้น มีจำนวนประชากรรวมกันอยู่ที่ 2.8 พันล้านคน คิดเป็น 36% ของประชากรโลก อันดับรองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน และบราซิล ในอันดับที่ 3 – 6 และมีจำนวนผู้คนรวมถึงประมาณพันล้านคน
อัตราการเพิ่มของประชากรโลกของปี 2019 ในแต่ละประเทศ อยู่ในอัตราใกล้เคียงกับปี 2018 ที่ผ่านมา
แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราประชากรลดลงเป็นลำดับต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี โดยในปี 2019 ลดลง 0.27% ทำให้ตัวเลขประชากรรวมอยู่ที่ 126 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งเห็นตัวเลขการลดลงถึง 6.5 แสนคนจากปี 2017 ที่ผ่านมา
สาเหตุคือประชากรในสัดส่วนเกือบ 30% ของประเทศญี่ปุ่น มีอายุมากกว่า 65 ปี สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมสูงวัย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในประเทศญี่ปุ่น ทั้งเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนแรงงาน และภาระหนักของรัฐในการสนับสนุนค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรวัยเกษียณ
สำหรับประเทศไทย มีประชากรอยู่ในอันดับที่ 20 โดยมีจำนวนประชากรที่ 69 ล้านคน โดยมีอัตราการเพิ่มของประชากรจากปี 2018 ที่ 0.28%