
Onlinenewstime.com : วันนี้ 24 มีนาคม 2564 สำนักข่าว นิกเคอิ เอเชีย รายงานการจับมือกันครั้งสำคัญของ 2 ค่ายยักษ์ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น โตโยต้า มอเตอร์ เตรียมลงทุนใน อีซูซุ มอเตอร์ เพื่อเป้าหมายผลักดันเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติและยานยนต์ไฟฟ้า
โตโยต้าจะใช้เงินลงทุนถึง 42.8 พันล้านเยน (394 ล้านดอลลาร์) เพื่อเข้าถือหุ้น 4.6% ในอีซูซุ เพียงแค่ 3 ปี หลังจากทั้งสองราย ยุติการร่วมทุนในคราวก่อน การกลับมาร่วมทุนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งใหม่ ที่ดึงเอา ฮีโน่ มอเตอร์ส บริษัทในเครือของโตโยต้า เข้ามามีส่วนร่วมในข้อตกลงทางธุรกิจ หลังจากที่ถูกมองเป็นคู่แข่งสำคัญของ อีซูซุ นอกจากนี้อีซูซุ เองก็มีแผนจะซื้อหุ้นของโตโยต้าในมูลค่าเทียบเท่าเช่นกัน
การร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อรวมจุดแข็งของอีซูซุและฮีโน่ เรื่องการผลิตยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ เข้ากับเทคโนโลยี CASE (connected, autonomous, shared and electric vehicles- การเชื่อมต่อ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ การแชร์การทำงานร่วมกัน และยานยนต์ไฟฟ้าการ) ของโตโยต้า ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะเร่งดำเนินการเพื่อไปสู่นโยบายของความยั่งยืน การเผยแพร่เทคโนโลยีและบริการของ CASE เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อุตสาหกรรมการขนส่งกำลังเผชิญอยู่ ที่สำคัญคือช่วยสร้างสังคมที่ไร้การปล่อยคาร์บอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรทั้ง 3 วางแผนทำงานร่วมกัน ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEVs) และรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs), เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ และแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ โดยโครงการที่ร่วมกันของ BEVs และ FCEV ก็เพื่อลดต้นทุนของยานยนต์ และวางแผนที่จะพัฒนาการทำงานร่วมกันด้านความยั่งยืน
เพื่อส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ตั้งไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ในการบรรลุนโยบายเรื่องของความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ความสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนนี้ มีบทบาทต่อทั้งผู้ใช้รถ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพื่อตอบสนองสถานการณ์พลังงานในแต่ละภูมิภาค เช่นเดียวกันกับความสำคัญของเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน
“ถ้า ฮีโน่และอีซูซุ ทำงานร่วมกัน จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถึง 80% สำหรับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ เทคโนโลยี CASE ของโตโยต้าสามารถแก้ปัญหาต่างๆด้านโลจิสติกส์ได้” Akio Toyoda ซีอีโอของโตโยต้า กล่าวในงานแถลงข่าว “ไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในการแข่งขันเท่านั้น แต่ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังมีความสำคัญมากเพื่อสร้างความคล่องตัวที่ดีขึ้น”
บริษัททั้งสองกล่าวถึงแผนการพัฒนารถบรรทุกเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (BEVs) และเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) โตโยต้าเคยมีการลงทุนในอีซูซุ เมื่อปี 2006 เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล แต่ทั้งสองบริษัทฯได้ตัดความสัมพันธ์ด้านเงินทุนไปเมื่อปี 2018 อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาทั้งสองบริษัทฯ ก็กล่าวในเชิงที่เปิดกว้างสำหรับความเป็นไปได้ที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต
Toyoda ยังกล่าวเน้นย้ำว่านวัตกรรมในอุตสาหกรรมรถยนต์ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากบริษัทโลจิสติกส์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเดินทางถึงกว่า 40% ของระยะทางรถยนต์ทั้งหมด และมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณครึ่งหนึ่ง
ชาวญี่ปุ่นประมาณ 5.5 ล้านคนมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งรวมถึงการผลิต การขนส่ง และสถานีบริการน้ำมัน เรียกได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในวงจรโลจิสติกส์ และส่วนใหญ่ใช้งานรถบรรทุก
Yoshio Shimo ซีอีโอของฮีโน่ เสริมว่าการมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านรถบรรทุกที่มีการเชื่อมต่อกัน จะช่วยลดภาระให้กับคนขับ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานอย่างมาก และความร่วมมือนี้สามารถช่วยให้ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อรองรับโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะในอนาคต
“เราต้องคำนึงถึงวิธีสร้างการจราจรที่ปลอดภัย เมื่อรถโดยสารและยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์มาอยู่ร่วมกันบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงวันที่รถยนต์เป็นระบบอัตโนมัติ” Toyoda กล่าวสรุป “ทั้งสามบริษัท คาดว่าจะใช้ไฮโดรเจน ที่ผลิตในเมืองเล็ก ๆ ของจังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อพัฒนารถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงของเมืองนามิเอะ ที่กล่าวถึงนี้ ถูกปิดตายมาเป็นเวลาหลายปี หลังจากเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง และสึนามิเมื่อสิบปีก่อน และมีกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ แต่ในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโรงงานขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นในเมือง เพื่อการผลิต “green hydrogen” โดยใช้พลังงานหมุนเวียน”