fbpx
News update

แรงงานรุ่นใหม่ต้องมีไอคิว – อีคิว – อัพสกิล

Onlinenewstime.com : จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสังคมไทย ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอีก 10  ถึง 20 ปีข้างหน้า? จากเวทีเสวนา “ความรู้และทักษะความจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่” จัดโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ United Nations Population Fund (UNFPA)  มีการคาดการณ์ว่า  ประชากรสังคมไทย มีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและจำนวนคนในวัยแรงงานน้อยลง  

ซึ่งกลุ่มคนในวัยแรงงานช่วงอายุ 21- 59 ปี หนึ่งคน น่าจะต้องแบกภาระสังคมและดูแลคนรอบข้างในอัตรา 1:5 คน  ส่งให้ต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ระบบแรงงาน และผู้ที่เป็นกลุ่มแรงงานใหม่ (New Jobbers) ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็น ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ และชีวิตการทำงานให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถดูแลตนเอง คนรอบข้าง และสร้างผลผลิตต่อสังคมได้

การจัดเสวนาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีระหว่างคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ ร่วมแบ่งปันความรู้และทักษะพื้นฐานรวมถึงสิทธิที่จำเป็น เพื่อรวบรวม ชุดความรู้และทักษะ ไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ การเสริมพลังคนรุ่นใหม่และเยาวชนในวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน และการหาแนวร่วมการพัฒนาคนรุ่นใหม่กับภาคเอกชนต่อไป 

โดยนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มีมุมมองเกี่ยวกับ  “ความรู้และทักษะความจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่” มีความสำคัญ และจำเป็นที่แรงงานรุ่นใหม่ต้องเพิ่มเติมทักษะ 

หากคุณเป็นพนักงานประจำ ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนตามเกณท์  และถ้าคุณเป็นแรงงาน ที่มีทักษะความรู้และความสามารถในการเชี่ยวชาญสายงานนั้นหรืออื่นๆ จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ได้อีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นแรงงานรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้ทำงานในรูปแบบงานประจำเท่านั้น  แต่ยังต่อยอดและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากทักษะที่มี 

ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของเทรนด์การทำงานที่มาแรงในขณะนี้  เรียกว่า  Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ จากงานระยะสั้นประเภทต่างๆ เป็นเทรนด์และรูปแบบการทำงาน ที่แรงงานคนรุ่นใหม่เลือกทำ  รวมทั้งยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความสำคัญที่ละเลยไม่ได้ ก็คือ การสื่อสารที่มีคุณภาพโดยเฉพาะ “การฟัง” ที่นอกจากจะได้ความรู้ยังเป็นการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ จากกลุ่มแรงงานด้วยกัน รวมทั้งผู้บริหาร  และถึงแม้ว่าแรงงานที่อยู่ในหลายๆ องค์กรส่วนใหญ่เป็นลูกผสม อาจจะมีแรงงานหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัย  

ดังนั้น ทักษะด้านการสื่อสารจะต้องมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาตนเองทั้งไอคิวและอีคิวไปพร้อมกัน  อีกทั้งการสร้างและมีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่ใช่ว่าจะมีแค่ทักษะความรู้เท่านั้น 

พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนวคิด และหลักการเตรียมความพร้อมในการทำงานดังนี้  

ทักษะแรก ทัศนคติที่ดี เปิดกว้าง เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว หากพร้อมที่จะเรียนรู้และรับสิ่งใหม่ ที่นอกเหนือจากความรู้ที่เรียนมา จึงทำให้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการทำงานอย่างรวดเร็ว  รวมทั้ง ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ทักษะที่สอง  ทักษะด้านการสื่อสารให้มีความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  

ทักษะที่สาม การมีมนุษย์สัมพันธ์ดี และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นอีกหนึ่งทักษะ ที่แรงงานรุ่นใหม่ต้องมี  ตัวอย่างเช่น การรับวิศวกรในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ทักษะความรู้ที่เก่งด้านวิชาชีพวิศวะเท่านั้น  แต่การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ  

เนื่องจากการทำงานในตำแหน่งวิศวกร ต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลาย ทั้งช่าง พนักงานในส่วนการผลิต และผู้บริหารอาจเป็นชาวต่างชาติ  ซึ่งทักษะทางอารมณ์และสังคม (Soft Skill)  นับเป็นเรื่องที่เรียนรู้ยาก แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักที่แรงงานรุ่นใหม่จะต้องมีการพัฒนาทักษะความรู้ (Upskill) ตลอดเวลา เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยเฉพาะในการทำงาน  ดังนั้น แรงงานรุ่นใหม่จะต้องมีทักษะ 360 องศาควบคู่ไปพร้อมกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างมืออาชีพต่อไป