fbpx
News update

อ่านจากตัวเลข “โครงสร้างประชากรไทย” ในรอบ 10 ปี มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ?

Onlinenewstime.com : ในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 – ปี 2563 โครงสร้างประชากรไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง  นอกจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโดยรวม จากจำนวน 64.07 ล้านคนในปี 2554 เป็นตัวเลข 66.18 ล้านคนในปี 2563 นั้น ยังมีโครงสร้างประชากรในแต่ละช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปดังนี้

“กลุ่มประชากรในวัยเด็ก” ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวนลดลง

ในช่วงระยะจากปี 2554 ถึงปี 2563 ลดลงประมาณ 10.77% เห็นได้จากตัวเลขของปี 2554 มีจำนวน 12.15 ล้านคน และในปี 2563 มีจำนวน 10.72 ล้านคน

ตัวเลขกลุ่มประชากรวัยเด็กที่จำนวนลดลงนั้น สอดคล้องกับ “อัตราการเกิด” ที่มีจำนวนลดลงเป็นลำดับ

เห็นได้จากการเกิดในปี 2554 ที่มีจำนวน 7.96 แสนคน และเมื่อ 10 ปีผ่านไป ในปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่จำนวนการเกิดน้อยที่สุด โดยมีการเกิดอยู่ที่ 5.87 แสนคน ต่ำกว่าปี 2562 คิดเป็น 4.99% และต่ำกว่าปี 2554 ถึง 26.22%

ในขณะที่ “ประชากรวัยทำงาน” ที่มีอายุระหว่าง 15 – 59 ปี มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

จากจำนวน 42.98 ล้านคนในปี 2554 เป็น 42.65 ล้านคนในปี 2563 ลดลง 0.78%

“กลุ่มผู้สูงวัย” ที่มีอายุ 60 ปี มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยจากในปี 2554 ที่มีผู้สูงอายุ 7.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 11.63 ล้านคนในปี 2563 นับเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 48.92%

10 อันดับของ จังหวัด ที่มีคนแต่ละช่วงวัยสูงสุด

จากสถิติในรอบ 10 ปี ลองมาดูตัวเลขรายจังหวัด ในปี 2563 ที่เป็นการจัด “10 อันดับของจังหวัด ที่มีคนแต่ละช่วงวัยสูงสุด” โดยคิดจากสัดส่วนต่อจำนวนประชากรในจังหวัด

10 อันดับ จังหวัดที่มีประชากร “วัยเด็ก”

จังหวัดที่ติดท็อปเท็น มีประชากร “วัยเด็ก” อายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่าส่วนใหญ่เป็น “จังหวัดในภาคใต้”

อันดับแรก คือ ปัตตานี มีจำนวนประชากรวัยเด็ก 1.86 แสนคน หรือ 25.69% ของจำนวนประชากรในจังหวัด

ตามมาด้วยยะลา และนราธิวาส ที่จำนวนประชากรวัยเด็ก อยู่ที่ 25.31% และ 24.77% ของประชากรทั้งหมดตามลำดับ

อันดับถัดไป คือ จังหวัดสตูล กระบี่ ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี และอันดับ 9 – 10 เป็นจังหวัดระยอง และบึงกาฬ มีสัดส่วนประชากรเด็กที่ 18.49% และ 18.41% ของประชากรในจังหวัด   

10 อันดับ จังหวัดที่มีประชากร “วัยทำงาน”

ภาพรวมของ “วัยทำงาน” อายุระหว่าง 15-59 ปี ในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ที่สัดส่วนระหว่าง 51 – 67% จากประชากรรวมของจังหวัด โดยจังหวัดที่มีอัตราสูงสุดใน 10 อันดับแรก แทบทั้งหมดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งโดยรวมมีตัวเลขสูงกว่า 66% ของประชากรรวมในจังหวัด

อันดับแรก จังหวัดสกลนคร มีประชากรวัยทำงานถึง 7.75 แสนคน คิดเป็น 67.62% จากประชากรรวม

อันดับ 2 คือ ปทุมธานี ด้วยจำนวนที่สูงถึง 7.95 แสนคน หรือ 67.58% จากจำนวนคนในจังหวัด

อันดับที่ 3 – 10  ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครพนม มหาสารคาม และมุกดาหาร บึงกาฬ และร้อยเอ็ด (รายละเอียดตามตัวเลขที่แสดงในแผนภูมิ)

10 อันดับ จังหวัดที่มี “ผู้สูงอายุ

ความหนาแน่นของจำนวน”ประชากรสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป กระจายไปตามภาคต่างๆ โดย 10 อันดับสูงสุด ทุกจังหวัดมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเกินกว่า 20% ของจำนวนประชากรในจังหวัด

เริ่มจากอันดับแรก จังหวัดลำปาง มีจำนวนผู้สูงวัย 1.77 แสนคน คิดเป็น 24.4%

อันดับ 2 คือ สิงห์บุรี มีจำนวนผู้สูงอายุ 4.9 หมื่นคน คิดเป็นอัตราสูงถึง 24.25%

ตามมาด้วยอันดับ 3-10 คือ จังหวัดลำพูน 9.6 หมื่นคน แพร่ 1.04 แสนคน ชัยนาท 7.4 หมื่นคน สมุทรสงคราม 4.4 หมื่นคน และอ่างทอง พะเยา อุตรดิตถ์ และพิจิตรตามลำดับ

โครงสร้างประชากร “กรุงเทพมหานคร

สำหรับ “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของเรา แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรกของทุกช่วงวัย ด้วยความหนาแน่นของจำนวนประชากร แต่ลองมาดูตัวเลขของโครงสร้างของประชากรในกรุงเทพฯ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถิติปี 2563 กันบ้าง พบว่ากรุงเทพมหานคร มีประชากรทั้งหมด 5.58 ล้านคน แบ่งเป็น

“วัยเด็ก” จำนวน 7.51 แสนคน

“วัยทำงาน” 3.57 ล้านคน

“ผู้สูงอายุ” ถึง 1.1 ล้านคน  

ภาพรวมของประชากรทั่วประเทศ แบ่งตามช่วงวัย

จัดทำและเผยแพร่ 6 มิถุนายน 2564

error: Content is protected !!