fbpx
News update

หนุนมาตรการทดแทนปูนเม็ดในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

Onlinenewstime.com : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” โดยความร่วมมือ 21  องค์กร ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเพื่อโลกของเรา” ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศได้ ไม่น้อยกว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมขับเคลื่อนกับประชาคมโลก เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส(Paris Agreement) แสดงเจตจำนงในเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573

อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโดยในปี 2562 มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้หลายองค์กร ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการสนับสนุนเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น

เป็นที่น่ายินดีที่ภาคอุตสาหกรรม ร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขา “กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์” ด้วย “มาตรการทดแทนปูนเม็ด” เนื่องจากในกระบวนการเผาวัตถุดิบ เพื่อเปลี่ยนให้เป็น “ปูนเม็ด” นั้น เป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาปริมาณมาก

จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” (HYDRAULIC CEMENT) ซึ่งมีวิธีการผลิต ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าลดได้ราว 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2565 หากสนับสนุนส่งเสริม เพิ่มการใช้งานปูนซีเมนต์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้างต่างๆ

โดยใน ปี 2573 วางเป้าหมายว่า จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ถึง 850,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ความสำเร็จสู่เป้าหมายนี้ จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิศวกรทั่วประเทศ และประชาชนทุกภาคส่วน

วสท.ได้ร่วมลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือฯ กับ 21 องค์กร ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมทางหลวง, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม,

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, สถาบันสิ่งก่อสร้างแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, สภาวิศวกร, สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย โดยมีข้อตกลงดำเนินการร่วมกัน ดังนี้:

            • สร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงให้เห็น ถึงความสำคัญของแต่ละภาคส่วน ที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ

            • ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการผลิต ให้ความสำคัญตลอดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

            • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย พัฒนา และการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

            • ส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการจัดทำมาตรฐานลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนครีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประชาสัมพันธ์ให้นำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

            • ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การใช้งาน และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก่ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคเอกชน และผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคการศึกษา

            • ส่งเสริมและสนับสนุน ให้โครงการภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มการใช้งานผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์กอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับปรุง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ในบัญชีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

            • ร่วมกันจัดทำข้อมูล สำหรับการติดตาม และประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

            • ร่วมกันดำเนินกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ด้วยมาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ

error: Content is protected !!