fbpx
News update

สถิติการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ เดือนมิ.ย. 63

Onlinenewstime.com : นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 24 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ

โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ จากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,587 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 3,575 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทย ยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก  เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน ในที่อับอากาศและการถ่ายเทสารเคมีในหอกลั่นสูง ที่มีความกดอากาศ ตามมาตรฐานยุโรป

องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน ของเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่ใช้หลักการแลกเปลี่ยนความร้อน (HRSG system) องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมเพื่อออกแบบ และพัฒนาคุณภาพชิ้นส่วนยานยนต์

และโปรแกรมเพื่อการตรวจและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

  1. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 4 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และจีน มีเงินลงทุนจำนวน 542 ล้านบาท อาทิ
    • บริการขุดเจาะปิโตรเลียม
    • บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
    • บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง และติดตั้ง ทดสอบและบำรุงรักษา สำหรับโครงการก่อสร้างคลังน้ำมันเชื้อเพลิง
  2. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 632 ล้านบาท อาทิ
    • บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านการเงินและการลงทุนของบริษัทในเครือที่ประเทศสิงคโปร์
    • บริการสนับสนุนบุคลากรไปดำเนินการตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัท
  3. ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 7 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์  มีเงินลงทุนจำนวน 181 ล้านบาท อาทิ
    • นายหน้าประกันชีวิต ประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง
    • ค้าปลีกเครื่องบดย่อยและคัดแยกขนาด (Crusher and Screening Equipment) อุปกรณ์ลำเลียงและขนถ่าย (Conveyor) อุปกรณ์แต่งแร่ (Minerals Processing Equipment)
    • ค้าส่งกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
  4. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสวิส ซามัว อังกฤษ สิงคโปร์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีเงินลงทุนจำนวน 232 ล้านบาท อาทิ
    • บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหอกลั่น (Tower) และเตาปฏิกรณ์ (Reactor) รวมทั้งท่อแยกแก๊ส
    • บริการรับจ้างผลิต วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์
    • บริการออกแบบพร้อมติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าประเภทแผงโซล่าเซลล์

สำหรับเดือนมิถุนายน 2563 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาต เป็นธุรกิจที่มีลักษณะเป็นคู่สัญญาเอกชน โดยเป็นบริการที่สนับสนุนธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

อนึ่งในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 134 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,357 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 35  

โดยมีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านการเงินและการลงทุนของบริษัทในเครือ ค้าปลีกเครื่องบดย่อยและคัดแยกขนาด (Crusher and Screening Equipment) อุปกรณ์ลำเลียงและขนถ่าย (Conveyor) อุปกรณ์แต่งแร่ (Minerals Processing Equipment) และบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหอกลั่น (Tower) และเตาปฏิกรณ์ (Reactor) รวมทั้งท่อแยกแก๊ส เป็นต้น

error: Content is protected !!