fbpx
News update

สถิติการจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนมกราคม 2563

Onlinenewstime.com : นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนมกราคม 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลการจดทะเบียนธุรกิจ

ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมกราคม

            • จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่  มีผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2563 จำนวน 6,942 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 16,256 ล้านบาท

            • ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 633 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 351 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 225 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

            ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน  โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 5,008 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.14 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,833 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.40 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 90 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.30 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 ตามลำดับ    

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ เดือนมกราคม

           จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำเดือนมกราคม 2563มีจำนวน 1,407 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 3,900 ล้านบาท   

            • ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 150 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 72 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 40 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

             ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน  โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 992 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.50 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5   ล้านบาท จำนวน 350 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.88 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.34 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.28 ตามลำดับ     

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมกราคม

            • ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น  (ณ วันที่ 31 ม.ค. 63)  ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 751,662 ราย  มูลค่าทุน 18.40 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,996 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.61 บริษัทจำกัด จำนวน 565,408 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.22 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,258 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17 ตามลำดับ

            • ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน  ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 443,706 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.03 รวมมูลค่าทุน 0.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.12 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 221,260 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.44 รวมมูลค่าทุน 0.73 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.97 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 71,104 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.46 รวมมูลค่าทุน 1.93 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.49 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,592 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.07 รวมมูลค่าทุน 15.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.42 ตามลำดับ 

การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว

เดือนมกราคม

• เดือนมกราคม 2563  มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 54 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 25 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 29 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,198 ล้านบาท ทั้งนี้   เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 15% (เพิ่มขึ้น 7 ราย)

• นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 13 ราย เงินลงทุน 2,250 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 1,057 ล้านบาท และเยอรมนี 7 ราย เงินลงทุน 170 ล้านบาท


การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนมกราคม 2563

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวก เพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกกระบวนการของกรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา

e-Certificate บริการระบบหนังสือรับรอง และรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านธนาคาร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดระบบการให้บริการหนังสือรับรอง และรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านธนาคาร (e-Certificate) ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2555 และผ่านการรับรองระบบพิมพ์ออกฯ จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จึงเป็นนวัตกรรมที่สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการ ณ สาขาธนาคารใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ได้รวมทั้งสิ้น 10 ธนาคาร จำนวน 3,835 สาขา

e-Secured จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์    

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ผ่าน Web Application และ Web Service แบบ Host to Host และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และออกใบเสร็จรับเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยเจ้าพนักงานทะเบียนลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature)

รวมถึงสามารถตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจเบื้องต้นผ่าน เว็บไซต์ หรือผ่านระบบ mobile application (ios และ android) บนสมาร์ทโฟน โดยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 483,673 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 7,735,596 ล้านบาท โดยมีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และใช้ประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน

สำหรับเดือนมกราคม 2563 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 9,982 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 168,639 ล้านบาท ทั้งนี้ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ มากที่สุด ได้แก่ สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก ลูกหนี้การค้า สิทธิการเช่า คิดเป็นร้อยละ 50.93 (มูลค่า 85,892 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง คิดเป็นร้อยละ 49.05 (มูลค่า 82,724 ล้านบาท) กิจการ มีการจดทะเบียน คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 23 ล้านบาท) และ ไม้ยืนต้น เป็นประเภทไม้ยางพารา คิดเป็นร้อยละ 0.0001 (มูลค่า 210,000 บาท) และมีผู้รับหลักประกัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 231 ราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดสัมมนาการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ สำหรับผู้รับหลักประกัน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีผู้สนใจเข้าร่วม จำนวน 230 ราย

e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 – 31 มกราคม 2563 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 52,891 ราย รับจดทะเบียน 22,263 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น  ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ รวมทั้งการให้บริการสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคล รูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคล ที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration

DBD e – Filing การนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์  

การนำส่งงบการเงินของนิติบุคคล ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 (สำหรับนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดปี 2562) มีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินแล้วจำนวน 42,056 ราย คิดเป็น 6 % ของนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงิน โดยนำส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) จำนวน 37,939 ราย คิดเป็น 90% และนำส่งในรูปแบบกระดาษ จำนวน 4,117 ราย คิดเป็น 10%

จะเห็นว่าการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing อยู่ในสัดส่วนถึง 90% ของนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินแล้ว ซึ่งมียอดการนำส่งงบการเงิน สูงกว่าปีก่อนเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าการรณรงค์เชิญชวนให้นิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ สามารถนำส่งงบการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน DBD Data Warehouse และ DBD e – Service Application ได้อย่างรวดเร็ว

การนำส่งงบการเงินประจำปี 2563 นิติบุคคลสามารถนำส่งได้ 2 ช่องทาง คือ การนำส่งผ่านช่องทางออนไลน์ DBD e-Filing รูปแบบ Excel เวอร์ชั่น 2  ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานระบบที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม และการนำส่งรูปแบบกระดาษ (ซึ่งจะต้องส่งผ่าน DBD e-Filing อีกครั้งภายใน 7 วัน จึงจะถือว่านำส่งงบการเงินเสร็จสมบูรณ์)

โดยปีนี้กรมได้ปิดช่องทางการนำส่งงบการเงินทางไปรษณีย์ เนื่องจากปีที่ผ่านมานิติบุคคลนำส่งงบการเงินทางไปรษณีย์เพียง 0.5% ของนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)

กรมจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นิติบุคคลเตรียมความพร้อมโดยดาว์นโหลดไฟล์ Excel เวอร์ชั่น 2 สำหรับกรอกงบการเงินได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยศึกษาวิธีการใช้งานได้ที่ เว็บไซต์ เลือก‘บริการออนไลน์’ และ ‘ระบบนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์’ (DBD e-Filing)”และ ในส่วนการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนิติบุคคล จะต้องนำส่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามประเภทของนิติบุคคล ดังนี้ ‘บริษัทจำกัด’ ต้องนำส่งแบบ บอจ.5 ต่อกรมฯ ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติ ในที่ประชุมใหญ่ และ ‘บริษัทมหาชนจำกัด’ ต้องนำส่งแบบ บมจ.006 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันเสร็จการประชุม ขอให้นำส่งผ่านระบบ DBD e-Filing เช่นกัน

สำหรับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุการณ์การสูญเสียครั้งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา 

  1. ขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่ยื่นงบการเงิน และมีสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา สำหรับงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดปี 2562 ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 ธันวาคม 2562 โดยขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงินออกไปอีก 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 11
  2. ขยายเวลาการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ให้แก่กรรมการของบริษัทที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และมีหน้าที่ยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นแก่นายทะเบียน ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 29 กุมภาพันธ์ 2563 โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นหนังสือขอขยายเวลาต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทภายใน 15 วัน นับแต่เหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมาได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้นายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตขยายเวลาให้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์  

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ ซึ่งการบริการ e-Service เป็นการบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์  โดยขอรับข้อมูลได้ผ่านช่องทาง Walk in  EMS  Delivery และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) ซึ่งการบริการในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในเดือนมกราคม 2563 มีจำนวน 18,480 ราย คิดเป็น 53% ของการให้บริการ e-Service และได้ขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติและสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทางเว็บไซต์แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ได้ทั้งระบบ Android และ IOS

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ปรับลดอัตราค่าบริการหนังสือรับรอง รับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร (e-Certificate) จากอัตราเดิม หนังสือรับรองนิติบุคคล ฉบับละ 150 บาท เป็น ฉบับละ 100 บาท รับรองสำเนาเอกสารทะเบียน งบการเงิน/บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จาก 1-5 หน้าแรก 100 บาท หน้าถัดไปหน้าละ 20 บาท เป็น หน้าละ 20 บาท โดยไม่กำหนดอัตราเริ่มต้น โดยธนาคารกรุงไทย ปรับลดเป็นระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 สิงหาคม 2563 มีสาขาที่พร้อมให้บริการทั้งสิ้น 1,132 สาขาทั่วประเทศ และธนาคารออมสิน ปรับลดเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิถุนายน 2563 กว่า 1,070 สาขาทั่วประเทศ

DBD Connect เชื่อมระบบบัญชีสู่การยื่นงบการเงินออนไลน์ (DBD e-Filing)

 กรมฯ ร่วมกับผู้ผลิตซอฟแวร์บัญชีชั้นนำของประเทศ จำนวน 16 ราย (20 โปรแกรม) พัฒนาการเชื่อมโยงซอฟต์แวร์บัญชีกับระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) แบบอัตโนมัติ ผ่านระบบ DBD Connect อำนวยความสะดวกการจัดทำบัญชีและงบการเงินสำหรับนักบัญชีให้สามารถนำส่งงบการเงินในรูปแบบ XBRL ที่เชื่อมโยงข้อมูลทางบัญชีพร้อมนำส่งงบการเงินผ่าน DBD e-Filing ได้โดยตรง และไม่ต้องคีย์ข้อมูลงบการเงินซ้ำ

การบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจร (Total Solution for SMEs)  และ eAccounting for SMEs

Total Solution for SMEs เป็นการขับเคลื่อน SMEs ด้วยนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจที่ครบวงจรได้โดยง่าย เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมด้านการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วนไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office)  โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting)  ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 25 โปรแกรม  

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้แจกฟรี “โปรแกรม e-Accounting for SMEs” ซึ่งเป็นโปรแกรมหน้าร้าน (POS) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าขาย เช่น  มี Scanner เพื่อซื้อขายสินค้าในตัว , มีฐานข้อมูลของสินค้ามากกว่า 10,000 รายการ เป็นต้น โดยร้านค้าสามารถสมัครขอใช้งานโปรแกรม e-Accounting for SMEs ได้ผ่านทางโครงการ Total Solution for SMEs หรือดาวน์โหลดได้ที่ Google Play Store ในระบบ Android

DBD Data Warehouse                                  

กรมได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์หลากหลาย และสามารถจัดทำผลวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ ประกอบด้วยข้อมูลนิติบุคคล  ข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงิน ข้อมูลซัพพลายเออร์ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ข้อมูลโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย รวมทั้งข้อมูลสถิติการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลธุรกิจไปสนับสนุนการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยในปี 2563 (ม.ค.) มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้นจำนวน 644,603 ครั้ง

error: Content is protected !!