fbpx
News update

“วิกฤตธรรมชาติ” ภัยคุกคามจีดีพีโลก

Onlinenewstime.com : PwC เผยธุรกิจทั่วโลกมีการพึ่งพาธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่คาด โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าครึ่งของจีดีพีโลก ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง-เกษตร-อาหารและเครื่องดื่มเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด

โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกัน คิดเป็น 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนี แนะทุกภาคส่วนเร่งปกป้องและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงที่รุนแรง หลังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากรายงานของ ipbes.net พบ 25% ของพันธุ์พืชและสัตว์ ถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ โดยมีกว่าล้านสายพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ และอีกจำนวนมากคาดสูญพันธุ์ในทศวรรษนี้

กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานเศรษฐกิจธรรมชาติใหม่ หรือ The New Nature Economy Report ที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ร่วมกับ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานจำนวนทั้งสิ้น 163 กลุ่ม

พบว่า ธุรกิจทั่วโลก มีการพึ่งพาธรรมชาติมากกว่าที่คาด โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงราว 44 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 50% ของจีดีพีโลกมาจากธุรกิจที่มีการพึ่งพาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับปานกลางหรือระดับสูงมาก ขึ้นอยู่กับลักษณะของนิเวศบริการ โดยการผสมเกสรดอกไม้ คุณภาพน้ำ และการควบคุมโรคเป็น 3 ตัวอย่างบริการของระบบนิเวศที่ให้กับมนุษย์

ผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติ

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การพึ่งพาธรรมชาติที่ อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจมีความเสี่ยง เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือการสูญเสียทางธรรมชาติ โดยอุตสาหกรรมก่อสร้าง (มูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์) การเกษตร (มูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์) และอาหารและเครื่องดื่ม (มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์) ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับที่ มีการพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 อุตสาหกรรมเข้าด้วยกันแล้ว ยังมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของเศรษฐกิจเยอรมนี โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการสกัดทรัพยากรโดยตรง จากป่าไม้และมหาสมุทร หรือใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการของระบบนิเวศ เช่น ดินดี น้ำสะอาด การผสมเกสรดอกไม้ และสภาพภูมิอากาศที่ไม่แปรปรวน

หากสภาพธรรมชาติ ไม่อยู่ในภาวะที่เอื้อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากนิเวศบริการดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้การดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ต้องหยุดชะงัก โดย 15% ของจีดีพีโลก (หรือคิดเป็น 13 ล้านล้านดอลลาร์) ถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในระดับสูง ขณะที่ 37% ของจีดีพีโลก (หรือคิดเป็น 31 ล้านล้านดอลลาร์) ถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลาง

รายงานยังพบว่า อุตสาหกรรมอีกจำนวนมากมี “การพึ่งพาธรรมชาติอย่างซ่อนเร้น” ในห่วงโซ่อุปทาน และมีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักมากกว่าที่คาด เช่น 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มรวม (Gross Value Added: GVA) ของตนน้อยกว่า 15%  ที่พึ่งพาธรรมชาติในระดับสูงมาก แต่มากกว่า 50% ของมูลค่าเพิ่มรวมของห่วงโซ่อุปทานกลับมีการพึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางหรือระดับสูงมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีและวัสดุ การบิน การเดินทางและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เหมืองและโลหะ ห่วงโซ่อุปทานและขนส่ง และ ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภคและไลฟ์สไตล์

หากพิจารณาในระดับโลก รายงานพบว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าของจีดีพีในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการพึ่งพาธรรมชาติสูงที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (2.7 ล้านล้านดอลลาร์) ตามด้วย สหภาพยุโรป (2.4 ล้านล้านดอลลาร์) และ สหรัฐอเมริกา (2.1 ล้านล้านดอลลาร์) นี่ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ภูมิภาคที่มีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจต่อความเสี่ยงจากการสูญเสียทางธรรมชาติในระดับต่ำกว่า ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถนิ่งนอนใจได้

ธุรกิจที่พึ่งพาธรรมชาติแยกตามภูมิภาค

นาย โดมินิก วอห์เรย์ กรรมการผู้จัดการ สภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องกำหนดความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกันใหม่ เพราะความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องภายนอกอีกต่อไป รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเสียหายทางธรรมชาติ มีความสำคัญต่อธุรกิจทุกภาคส่วน และเป็นความเสี่ยง ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต”

นางสาว ซีลีน เออร์เวเจอร์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานนวัตกรรมโลกและความยั่งยืน PwC ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ขนาดและความรุนแรงของความเสียหายทางธรรมชาติ เป็นสัญญาณที่ทำให้ธุรกิจต้องตื่น และลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงก่ อนที่จะสายเกินแก้ เพราะความเสี่ยงที่เราเห็นทั้งทางด้านกายภาพ กฎระเบียบและกฎหมาย การตลาด และชื่อเสียงชี้ให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติ ต้องเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการบริหารความเสี่ยงขององค์กร

เรามีโอกาสในการช่วยสนับสนุนหน่วยงานกำกับดูแล ภาคธุรกิจ และนักลงทุน ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ ซึ่งทั้งคู่มีความเกี่ยวข้อง และสร้างความเสี่ยง ต่อระบบเศรษฐกิจโลก สำหรับสภาพภูมิอากาศนั้น ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องระบุและลดความเสี่ยง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติด้วย”

ด้านนาย อลัน โจป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า “ความจำเป็นเร่งด่วนที่รายงานนี้ ชี้ให้เห็นคือ เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ จากการที่เราทุกคนต่างพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่เห็นคุณค่า

ผู้นำธุรกิจและผู้นำภาครัฐ ยังมีเวลาที่จะดำเนินการ ตามผลจากการศึกษาของรายงานฉบับนี้ หากเราทำงานร่วมกัน ในการผลักดันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 (COP 15) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ภาวะของโลกออกจากห้องฉุกเฉินไปอยู่ห้องพักฟื้นได้”

ส่วนนาย มาร์โค แลมเบอร์ตินี่ ผู้อำนวยการองค์กร WWF International กล่าวว่า “หากเราร่วมมือกัน เราสามารถทำให้ธรรมชาติ กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ดีได้ งานวิจัยนี้ให้หลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า เศรษฐกิจของเรา มีการพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างมหาศาล

ดังนั้น ธุรกิจต้องมีบทบาทที่สำคัญ ในการฟื้นฟูธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ในส่วนของภาครัฐ ต้องมีการตัดสินใจที่แน่วแน่และนำข้อตกลงใหม่เพื่อธรรมชาติและผู้คนในปี 2563 มาใช้เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจและสังคมของเรา”

ศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงบวกต่อธรรมชาติ

ทั้งนี้ ความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สามารถถูกรวมอยู่ในแผนงานด้านการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise risk management) และกระบวนการ “อีเอสจี” หรือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) รวมทั้งการตัดสินใจลงทุน และรายงานทางการเงิน และ รายงานที่ไม่ใช่ทางการเงินที่องค์กรมีอยู่

โดยการใช้กรอบที่คล้ายคลึงกัน ในเรื่องความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการจัดหมวดหมู่ จะทำให้การบูรณาการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการตัดสินใจทางธุรกิจมากขึ้น

ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้ใช้กรอบความร่วมมือที่เสนอโดยคณะทำงานด้านความมั่นคงทางการเงิน ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพอากาศเพื่อทำการระบุ วัดผล และจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนี่สามารถนำมาปรับ และใช้ประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงทางธรรมชาติได้

นาย วอห์เรย์ กล่าวเสริมว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่า ยังมีหนทางข้างหน้า ภาคธุรกิจสามารถกำหนดทางเดินเฉพาะ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์จากการสูญเสียและความเสียหายตามธรรมชาติ ภายในทศวรรษนี้ได้ ด้วยการชะลอและหยุดการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ

โดยมีส่วนร่วม ในการลดการปล่อยก๊าซธรรมชาติให้เหลือศูนย์ ภายในช่วงกลางศตวรรษ ผ่านการใช้โซลูชั่นที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเป็นพื้นฐาน นี่จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ผู้คน และเศรษฐกิจ แต่เราต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้”

ด้วยกระแสความต้องการความโปร่งใส และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจ สำหรับบริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มผนวกธรรมชาติเข้ากับการดำเนินงานหลักขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น โดยหากบริษัทไหนที่เพิกเฉยต่อประเด็นนี้ ก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ตรงกันข้ามกับบริษัท ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ได้

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในปี 2563 โดยมุ่งไปที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (UN Convention on Biological Diversity: CBD) และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15  (COP 15)  ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และธุรกิจเพื่อการขับเคลื่อนธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ UN CBD ยังได้เปิดตัวร่างกรอบความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงหลังปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดเส้นทางเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคมกับความหลากหลายทางชีวภาพ และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผาสุกภายในปี 2593

นาย ศิระ กล่าวสรุปว่า “จะเห็นได้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศในทวีปแอนตาร์กติกา วิกฤตไฟป่าที่ออสเตรเลีย มลภาวะฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑล หรือแม้กระทั่ง การระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่สร้างความท้าทายไม่น้อยไปกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วน ที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน

“สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณที่ดี ของการตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI เพื่อเป็นทางเลือก ให้นักลงทุนได้ลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งดัชนี SETTHSI ที่แสดงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัท ที่ดำเนินการตามหลักอีเอสจี ในส่วนของภาครัฐ ก็มีการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ เอสดีจี ขององค์การสหประชาชาติ โดยยังบรรจุเป้าหมายนี้ไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0

และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ เพื่อลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการเคลื่อนไหวเพื่อดูแลรักษาธรรมชาติ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่เราไม่ควรหยุดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องช่วยกันทำอีกมากในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ และจิตสำนึกจากทุกฝ่าย”

error: Content is protected !!