fbpx
News update

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติชี้ New Normal ด้านสภาพภูมิอากาศ “แล้งจัดและฝนตกหนัก”

Onlinenewstine.com : แม้ว่าประเทศไทยจะมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เพื่อรับมือภัยแล้ง ตลอดจนโครงการต่างๆที่รับมือกับอุทกภัยตลอดมาก็ตาม แต่ในวันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป เรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศแล้งจัด และฝนตกหนัก เกิดเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมและภัยแล้ง ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปนั้น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ เว็บไซต์ ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ว่า เป็น “นิว นอร์มอล” ของสภาพอากาศ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งมนุษย์ต้องเรียนรู้ว่าจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

สภาพอากาศในแต่ละภาคของประเทศไทย ที่ผ่านมา เราเจอแต่เรื่องของอุณหภูมิที่ต่างกัน ข้างบนแล้ง ข้างล่างท่วม

นี่คือภูมิประเทศเป็นอย่างนี้ แต่จากวันนี้ไปจนถึงในอนาคตนั้น เราต้องปรับตัว เพราะความแตกต่างของอุณหภูมิ จะทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคไหน ต้องยอมรับว่าอุณหภูมิทุกพื้นที่ในประเทศไทยสูงขึ้น ประมาณ 1 องศาเซลเซียส มากกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก

เมื่อเราดูอุณภูมิสูงสุดหรือต่ำสุด จะต่างกันประมาณ 4 – 6 องศา ต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน นั่นหมายถึงว่า ทุกๆอุณหภูมิที่สูงขึ้นมา 1 องศานั้น จะมีปริมาณน้ำที่ระเหยขึ้นไปในอากาศและตกลงมาเป็นฝนเพิ่มขึ้นประมาณ 7% – 10%  และในฤดูแล้ง อุณหภูมิที่ร้อนจัด การเพิ่มขึ้นทุก 1 องศา น้ำก็จะหายไปจากพื้นดิน ความชุ่มชื้นที่มีอยู่ก็จะหายไปหมด โดยหายไปกองอยู่ในบรรยากาศและรอเจอความเย็น หรือช่วงหน้าฝน ที่ความเย็นมาจากมหาสมุทร เทื่อมีลมมรสุมมา ก็จะตกมาเป็นฝนเพิ่มขึ้นอีก 10%

อุณภูมิต่างกันสุดขั้ว ที่มาของนิวนอร์มอลสภาพอากาศ เกิดเหตุการณ์ “แล้งจัดและฝนตกหนัก”ที่รุนแรงมากขึ้น

รศ.ดร.เสรี อธิบายต่อว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เรียกว่า นิวนอร์มอล อากาศต่อไปจะเป็นแบบนี้  การที่ประเทศไทยเจออุณภูมิสูงสุดและต่ำสุด ต่างกันประมาณ 4 – 6 องศา นั่นหมายถึง เราเจอแล้งในฤดูแล้งมาก และในฤดูฝนเราจะท่วมหนักมาก โดยเริ่มมีสัญญาณเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และมีดัชนีที่ชี้วัด พบว่า แล้งในอนาคตจะรุนแรงหนักขึ้น แล้งในปี 2558, 2559, 2541 และ 2542  ที่ว่าหนัก ก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น

รวมไปถึงดัชนีชี้วัดว่าจะมีน้ำท่วมหนัก เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2538 และปี 2554 ซึ่งแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ นิวนอร์มอล

โดยเฉพาะเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบดูระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา ย้อนหลังไปที่ 50 ปี และ 100 ปี เราจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และมีความรุนแรงหนักขึ้น   

ประเทศไทยรับมืออย่างไรกับภัยพิบัติน้ำท่วม

ในด้านการรับมือกับอุทกภัยในอนาคตข้างหน้านั้น รศ.ดร.เสรี อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และเชื่อมโยงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า น้ำท่วมใหญ่อย่างปี 2538 และปี 2554 มีแนวโน้มจะมาทุกๆ 10 ปี จากอดีตที่บอกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นน้ำท่วมในรอบ 70 ปี แต่ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นในรอบ 10 ปี นั่นหมายความว่าอะไรที่เกิดจะมีความรุนแรงมากขึ้น และบ่อยครั้งมากขึ้น

เพราะฉะนั้นการจัดการ คือ ทางออก เพราะเราต้องยอมรับว่า เราหนีเหตุการณ์นี้ไปไม่ได้

ยกตัวอย่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองที่น้ำท่วมประจำ ทำไมถึงน้ำท่วมอยุธยาเพราะอยู่ในพื้นที่ที่มี 3 น้ำมารวมกัน  ทั้งแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา มาเจอกัน และเป็นจังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยา มีความสามารถในการรับน้ำได้น้อยที่สุด คือ ตัวแม่น้ำมีข้อจำกัดอยู่แล้ว เมื่อมีน้ำเหนือปริมาณมากผ่านมาตรงจุดที่รับน้ำได้น้อย มันจึงตีบและล้น ซึ่งก็เกิดน้ำท่วมที่อยุธยา และบริเวณใกล้เคียง

สำหรับการป้องกันน้ำท่วมนั้นมองว่าไม่มีทางเลย เพราะน้ำที่ไหลมาจากทางภาคเหนือจะต้องผ่านมาทางอยุธยาแน่นอน ดังนั้นอย่าไปฝืนสภาพ และหากจะใช้เงินทองมหาศาลเพื่อสร้างคลองผันน้ำ หรือสร้างกำแพง ทำอย่างไรก็ป้องกันไม่ได้ เพราะปริมาณน้ำมีมหาศาลมาก คนอยุธยาจึงจำเป็นต้องปรับตัว ถึงเวลาน้ำมาต้องอยู่กับน้ำให้ได้ จะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่กับน้ำได้

ข้อหนึ่ง คือ ขอให้รู้ตัวว่า น้ำมาเมื่อไหร่ ยกของไปอย่างไร และการออกแบบตัวบ้านในอนาคต ต้องออกแบบให้เหมาะกับสภาพที่จะเกิดขึ้น เมื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยุธยาอย่างไรก็ต้องท่วม เพียงแต่ว่า ต้องท่วมแล้วรู้ตัว ทำอย่างไรที่น้ำท่วมแต่ไม่เสียหาย นี่คือการปรับตัว

ข้อสอง คือ การจัดการกับทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ซึ่งปัจจุบันเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ เช่น นิคมอุตสาหกรรม แน่นอนว่าน้ำไม่ท่วม เพราะสร้างกำแพงสูงใหญ่แข็งแรงมาก นั่นคือกรณีของคนที่มีเงินทุน แต่ประชาชนอย่างเราทำไม่ได้ และแม้ว่าน้ำจะไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรม แต่โดยรอบท่วมทั้งหมด ก็หมายถึงนิคมฯทำงานไม่ได้อยู่ดี

เพราะฉะนั้น แนวคิดที่ว่าต่างคนต่างทำนั้น ไม่เกิดประโยชน์แน่นอน ในช่วงที่น้ำท่วมนิคมฯป้องกันได้ทรัพย์สินไม่เสียหาย แต่ในอนาคตมองว่านิคมอุตสาหกรรม จะกลายเป็นสถานที่อพยพ หนีภัยไปโดยปริยาย

นี่คือสิ่งที่เรามองอนาคต ว่าหลักคิดควรเป็นแบบนี้ ประชาชนทั่วไปต้องคิดที่จะอยู่กับน้ำให้ได้ เพราะเราหลีกหนีไม่ได้ จะย้ายอยุธยาก็ไม่ได้ การอยู่กับน้ำให้ได้ เหมือนเมืองเวนิส ที่จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเวนิสนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงให้รู้ว่าจะอยู่อย่างไร ที่เวนิสน้ำจะขึ้นมาเวลา 10.00 น. ที่ระดับประมาณ 2 เมตร ซึ่งทุกคนจะรู้ สังเกตได้ว่าในตอนเช้าจะไม่มีคนไปทำงานเพราะน้ำท่วม แต่จะเริ่มทำงานกันที่หลัง 10 โมง

แนวคิดในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม

รศ.ดร.เสรี กล่าวถึงแนวทางการรับมือน้ำท่วมของการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้เทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก หลายภาคส่วนคำนึงถึงเรื่องระบบเตือนภัย และพยายามพัฒนาขึ้นมา

แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องขององค์รวม ซึ่งหากไม่มีการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องบูรณาการกัน และในอนาคตจะทำแบบเดิมนั้นไม่ได้ แบบเดิมก็คือ ที่ดินที่ไหนราคาถูก ซื้อมาเก็บไว้ แล้วประกาศเป็นเขตนิคมฯ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้น เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อฝนตกหนักน้ำจะท่วม นี่คือปัญหาที่เกิดจากอดีต และการแก้ปัญหาคือนิคมอุตสาหกรรมสร้างกำแพงกันน้ำท่วมขึ้นมา ทำให้น้ำไหลไปในพื้นที่ต่ำกว่า ก็คือกระทบกับประชาชนแบบเรานั่นเอง หากทำแบบนี้ต่อไปในอนาคตสุดท้ายจะไปต่อไม่ได้

เช่นเดียวกับ ความสามารถในการรับมือของหน่วยงานรัฐ ที่เราเพิ่งจะเริ่มบูรณาการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรียกว่าอยู่ในจุดที่เริ่มตั้งไข่ จะต้องเดินต่อไปอีก 20 ปีหรือ 30 ปี เราต้องพัฒนาคน ที่มีองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำคู่ขนานไปด้วยกัน คนมีความสำคัญมาก ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เช่น หากเกิดเหตุน้ำเหนือกำลังเคลื่อนลงมาแล้ว 3 หมื่นล้านลูกบาสก์เมตร น้ำที่มากำลังเคลื่อนลงไปที่ไหน คนที่มีความรู้ จะสามารถสร้างแบบจำลองขึ้นมาให้เห็นได้ และมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ไปจนถึงการสื่อสารกับประชาชน

นโยบาย เช่น การรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมลักษณะเดียวกับปี 2554 หากเกิดขึ้นอีกครั้ง ต้องรับมือให้ได้ ต้องมีทั้งระบบเตือนภัยและระบบป้องกัน ซึ่งนำไปสู่เรื่องของ งบประมาณ ที่ต้องนำมาสร้างทั้งระบบ

ประเทศไทยรับมืออย่างไรกับภัยแล้ง  

รศ.ดร.เสรี อธิบายต่อว่า เมื่อสภาวะอากาศ มีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น เราต้องกลับมาดูว่า นิวนอร์มอล ที่กระทบใน 3 Sector ทั้ง ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภค-บริโภค

สำหรับภาคเกษตรกรรมประเทศไทย จะต้องรับมืออย่างไร ผลกระทบเกษตรกรรม แน่นอนว่ารุนแรงมากกว่าทุก Sector เพราะภาคเกษตรกรรมใช้น้ำ 70% ของประเทศ ในช่วงเวลาแล้งน้ำไม่มีในเขื่อนจะเอาน้ำมาจากไหน หรือในช่วงเวลาฝนตกน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เราต้องปรับวิธีการ โดยการบริหารน้ำของภาครัฐต้องปรับไปสู่ Demand Side Management 

จากที่ผ่านมา มีหน้าที่ในการหาน้ำโดยการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แต่ฝนไม่ตก มีแต่การจัดหาจากนี้ไปนโยบายภาครัฐต้องปรับ โดยกลับไปดูที่ผู้ใช้น้ำเป็นหลักว่า ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เช่น  การปลูกข้าวมีผลผลิตการปลูกข้าวในปัจจุบัน 500 กิโลกรัม/ไร่ ถือว่าต่ำมาก

เพราะข้อมูลโลกของประเทศที่มีการเพาะปลูกเฉลี่ยได้ 700 กิโลกรัม/ไร่ ประเทศจีน 1,100 กิโลกรัม/ไร่ อินเดีย 900 กิโลกรัม/ไร่ ออสเตรเลีย 1,500 กิโลกรัม/ไร่ นั่นหมายถึง การใช้ศักยภาพนวัตกรรมและคน ทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าเราถึง 2 เท่าตัว

ในด้านของทางออกสำหรับเรื่องนี้ คือ เราต้องปรับนวัตกรรมและพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่ต้องขยายพื้นที่ชลประทาน ให้มีการเพาะปลูกที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกลงครึ่งหนึ่ง และผลผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า นี่คือโจทย์จะทำอย่างไร ไม่ใช่ทำมากได้น้อย ต่อไปนี้ต้องคิดว่าทำน้อยได้มาก

ขณะที่นโยบายหลักของภาคเอกชนและเกษตรกร ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะว่าเมื่อ 30-50 ปี ที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น รอบการปลูกในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูกนั้น ต้องปลูกในฤดูที่เหมาะสม และได้ผลผลิต เช่น เกษตรกรเคยทำนา 2-3 ครั้ง 2 ปี และได้ผลผลิต 500 กิโลกรัม/ไร่ ปรับเป็นการปลูกข้าวครั้งเดียวใน 1 ปี ให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 กิโลกรัม/ไร่  

อย่างไรก็ตามปัญหาคือ เกษตรกรทำด้วยตัวเองไม่ได้ รัฐต้องให้นวัตกรรม การใช้โดรน รถไถ รถปลูก ให้องค์ความรู้เรื่องฝนต้องดี น้ำต้นทุนพอจะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องมีความสอดคล้องกัน

คำถามถึง Sector อื่นๆที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบนั้น มองว่าส่วนใหญ่ใช้น้ำน้อยกว่า โดยปกติภาคอุปโภค-บริโภค ใช้น้ำประมาณ 5% ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำ 10% แต่ก็แน่นอนว่า สัดส่วนการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ต่างกัน เช่น ภาคตะวันออก มี ECC  เกิดขึ้น ภาคเกษตรกับอุตสาหกรรมจะใกล้ๆกันที่ประมาณ 30%-40% ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เกษตรกรรมสัดส่วนที่ 70 %

ภาคอุตสาหกรรมตรงนี้จำเป็นจะต้องดูว่า เมื่อเกษตรปรับแล้ว ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับดัวย ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องไปปรับเทคโนโลยีตัวเอง โดยส่วนใหญ่ใช้น้ำในการหล่อเย็น  เครื่องจักรผลิตแล้วร้อน จึงต้องมีน้ำเพื่อทำให้เย็น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้นทุกวัน เครื่องจักรก็ต้องร้อนขึ้น

คลิปสัมภาษณ์ : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

ดังนั้นจึงต้องหาทางว่าเมื่อใช้น้ำไปแล้ว ควรเก็บน้ำนั้นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่วันนี้การรับน้ำมา 100 ปล่อยออกไป 100 ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องปรับวิธีการให้รับ 100 ปล่อย 60 หรือ 20 เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี

ในกรณีของอุตสาหกรรมก็จะมีกำลังในการปรับปรุง จึงไม่ต้องกังวล แต่ที่เป็นห่วงคือกลุ่มเอ็สเอ็มอี ที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยีได้อย่างไร ซึ่งทำได้คือการปรับแบบ reuse, recycle สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ต้องเป็นมาตรการลดการปล่อยแก๊สจากต้นตอ คือ ต้องเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ลำพังประเทศไทยอาจจะยังไม่ใช่ประเด็นที่วิกฤต เพราะเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก การเปลี่ยนแปลงจึงยังไม่มีผลมากนัก และโลกก็ยังร้อนขึ้นอยู่

ภาคอุปโภคและบริโภค เราบริโภคน้ำกันวันละประมาณเฉลี่ย 180 ลิตร เพราะฉะนั้นถามว่าคนไทยใช้น้ำเปลืองมั้ยถ้าเทียบกับโลก ตอบว่า “เปลือง” เพราะโดยเฉลี่ยจะใช้กันประมาณ 100 ลิตรต่อวัน ดังนั้นเมื่อน้ำต้นทุนมีน้อยลง จากเฉลี่ย 180 ลิตรต่อวัน

คนไทยจึงต้องหันมาดูว่า ใช้น้ำให้เท่ากับค่าเฉลี่ยโลกได้อย่างไรบางทีเราอยู่ในพื้นที่ร้อนชื้น อาบน้ำ ล้างหน้าบ่อย ก็เป็นผลทำให้เราใช้น้ำต่อวันมากขึ้น การปรับให้ใช้น้ำน้อยลง จึงก็ต้องกลับมาดูในรายละเอียด เช่น การใช้น้ำในแต่ละครัวเรือน

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเครื่องปั๊มน้ำทุกบ้าน ซึ่งในต่างประเทศนั้นไม่มี การที่ต้องใช้ปั๊มอัดน้ำเข้าบ้านใน เพราะน้ำประปาที่ปล่อยมานั้นแรงดันไม่พอ ผลจึงทำให้การใช้น้ำต่อครัวเรือนขึ้นไปถึง 200 ลิตร การแก้ไข รัฐจะต้องมีเครื่องมือที่ทำให้แรงดันน้ำเพียงพอโดยไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำ ชาวบ้านเองก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่อง ถ้าน้ำมีแรงดันพอไปถึงชั้น 2 ของบ้าน ก็จะทำให้ไม่เปลืองทั้งน้ำและไฟฟ้า นั่นคือประเด็นที่ต้องปรับ และผลจะตามมาเองว่าภาพรวมการใช้น้ำจะลดลง   

“ความสามารถในการรับมือกับ New Normal ด้านสภาพภูมิอากาศ “แล้งจัดและฝนตกหนัก”จะเป็นไปในทิศทางที่ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่คน งบประมาณ และนโยบายที่นำมาใช้”

error: Content is protected !!