fbpx
News update

บสย. ชี้ชัด “ค้ำประกันสินเชื่อ” ช่วย SMEs ตั้งตัวได้ งบรัฐ 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจประเทศ 28 เท่า

Onlinenewstime.com : บสย. เคียงข้างผู้ประกอบการ SMEs ร่วมแสดงผลงาน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ในงาน Better Thailand  Open Dialogue “ถามมา ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”

โชว์ศักยภาพประสิทธิภาพการใช้งบประมาณภาครัฐ 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทวีคูณ 28 เท่า  เผยผลงานรอบ 30 ปี อนุมัติวงเงินรวมกว่า 1.28 ล้านล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 1.72 ล้านล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 11 ล้านตำแหน่ง

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้ร่วมแสดงผลงานค้ำประกันสินเชื่อ ในงาน Better Thailand  Open Dialogue “ถามมา ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม

นำเสนอผลสำเร็จการค้ำประกันสินเชื่อ ในมิติต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 30 ปี (ปี 2535 – 2565) โดยนำเสนอข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณรัฐ ที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนี้

1. ยอดค้ำประกันสินเชื่อสะสม 1.28 ล้านล้านบาท

2. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อ 727,858 ราย หรือ คิดเป็น 23% ของ SMEs ทั้งประเทศ  แบ่งเป็นช่วยผู้ประกอบการ SMEs 226,444  ราย หรือ 31% และรายย่อย (Micro) 501,414 ราย หรือ 69%  ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 1.72 ล้านล้านบาท

3. รักษาการจ้างงาน 11 ล้านตำแหน่ง 

4. ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 5.3 แสนล้านบาท

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ยังได้สะท้อนความสำเร็จในมิติ ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณภาครัฐที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ โดยงบประมาณรัฐ 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 28 เท่า

เกิดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 7 ล้านบาท  สร้างสินเชื่อในระบบให้ SMEs ได้ 9.45 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 1.3 ราย ช่วยการจ้างงาน 54 ตำแหน่ง

ขณะที่โครงการ Micro งบประมาณรัฐ 1 ล้านบาท ก่อให้เกิดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 5 ล้านบาท  สร้างสินเชื่อในระบบให้ผู้ประกอบการ SMEs  5 ล้านบาท

ช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุน 40 ราย ช่วยการจ้างงาน 122 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณถึง 18 เท่า

นอกจากนี้ ในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2558-2565)  บสย. ได้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ถึง 668,232 ราย หรือราว 91% ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย.ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด (ซึ่งส่วนมากเป็นการช่วยเหลือรายย่อย) เป็นวงเงินกว่า 8.9 แสนล้านบาท หรือราว 70% ของยอดอนุมัติวงเงินทั้งหมด และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยปีละ 83,000 ราย และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เฉลี่ยปีละ 1.12 แสนล้านบาท

ภายในบูธ บสย. ยังได้แนะนำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งกำลังเปิดให้บริการผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่

(1)  โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 1-2 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs  รวม 200,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสูงสุด 150 ล้านบาทต่อราย

(2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan Extra  วงเงิน 90,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ พ.ร.ก. Soft loan และ

(3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. PGS 9 สร้างชาติ วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วงเงินค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดแสดงผลงานความสำเร็จแนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่กระทรวงการคลังต้องการให้ บสย. ขยายบทบาทให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ

ซึ่งมอบหมายให้ บสย. เป็นด่านหน้าในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยนำ Model ศูนย์ให้บริการแบบญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุมาให้คำปรึกษากับ SMEs

ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำมาก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหา

โดยยังได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ครบวงจร ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center  

ซึ่งมีผู้สนใจ ลงทะเบียน  7,955 ราย เข้ารับคำปรึกษา 1,775 ราย เข้ารับการอบรม 4,832 ราย  และต้องการสินเชื่อรวมกว่า  10,792 ล้านบาท โดย บสย. ได้เตรียมขยายศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน เพิ่มเป็นอีก 11 แห่ง ในเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกัน บสย. ยังได้เผยแพร่ผลงานการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ ที่ผ่านโครงการมาตรการแก้ไขหนี้ ปี 2565 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เร่งด่วน โดยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สำเร็จแล้ว  129 ราย วงเงิน 300 ล้านบาท รวมถึงมีการประนอมหนี้ ลูกหนี้แล้วกว่า 5,340 ราย วงเงินรวม 10,573 ล้านบาท

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ ภายใต้แนวคิด “บสย. พร้อมช่วย” บสย.ได้แบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  (1) ลูกหนี้ดี มีวินัย (2) ลูกหนี้ ผ่อนดีมี บสย.ช่วยเหลือ และ (3) ลูกหนี้ดี ไม่มีแรงผ่อน โดย บสย.ให้ความช่วยเหลือตามศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มเพื่อให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้  สอบถามรายละเอียด ที่ Call Center 02-890-9999

error: Content is protected !!