fbpx
News update

ทางรอดของแบรนด์เสื้อผ้าในวิกฤตโควิด-19

Onlinenewstime.com : นาทีนี้ธุรกิจต่างๆ ล้วนแล้วแต่บอบช้ำจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด- 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบกับธุรกิจขายส่ง ที่ต้องจมอยู่กับสินค้าคงคลังและคิดหาทางออกเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ที่นอกจากต้องทนทุกข์กับกองสต๊อค ที่ร้านค้าปลีกยกเลิกออเดอร์แล้ว ยังต้องหาทางออกกับดีไซน์ที่ล้าสมัยลงไปทุกวัน เว็บไซต์Adweek เขียนบทวิเคราะห์ถึงกรณีศึกษาจากเหล่าบรรดาแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ว่าหาทางออกให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างไร ซึ่งทางเว็บไซต์ ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ได้นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นไอเดียปรับใช้กับผู้ประกอบการไทยอีกทางหนึ่ง

เมื่อร้านค้าปลีกยกเลิกคำสั่งซื้อกับผู้ค้าส่ง เนื่องจากมีการปิดร้านอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัว และเปลี่ยนแปลงทิศทางไปสู่รูปแบบการขายตรงสู่ผู้บริโภค

จากการที่ต้องพึ่งพาโมเดลธุรกิจค้าส่งเป็นหลัก โดยใช้หน้าร้านของคู่ค้าปลีก ขายผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภค เมื่อมาถึงวันนี้ที่สต๊อคสินค้าอยู่ในสภาพล้นปรี่ เกินความต้องการ จึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการหาช่องทางอื่นเพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภค

Zahra Bahari ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Powell Cos Real กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลาย แบรนด์จำเป็นต้องนำกลยุทธ์ต่างๆมาใช้ ตั้งแต่การปรับแพลตฟอร์มสินค้า บริการจัดส่ง การฝากขาย และแม้แต่การให้เช่า

สิ่งเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการที่คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป หลังจากวิกฤตโควิด 19 คลี่คลายลง เพราะแบรนด์ต้องพยายามลดความเสี่ยง และลดสัดส่วนของการขายผ่านช่องทางแบบดั้งเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆในอดีตขณะที่แบรนด์อยู่ระหว่างการทดลองขายในช่องทางอื่น ซึ่ง ณ ตอนนั้น ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้รับความสำคัญอย่างเร่งด่วน

การเกิดขึ้นของวิกฤตไวรัสโควิด-19 กลายเป็นเหตุการณ์ที่ให้ทั้งเวลา และเป็นแรงผลักดันเพื่อให้เกิดการริเริ่ม และการให้ความสำคัญเรื่องช่องทางการขายใหม่ๆ

“แน่นอนว่ามีกระแสต่อต้านโดยธรรมชาติ สำหรับการปรับเปลี่ยนชองทางการกระจายสินค้า”

Greg Portell หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจ Kearney กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วิกฤตในครั้งนี้ ทำให้ผู้บริโภคมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก การสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคในช่องทางใหม่ๆนี้ รวมไปถึงการนัดหมายชมสินค้าแบบออนไลน์ (virtual) และการผลิตตามสั่ง (made-to-order)

“ความคิดสร้างสรรค์ในการข้ามข้อจำกัด เป็นทางออกที่ดีเยี่ยมและมีประสิทธิภาพสูง แบรนด์และผู้ค้าปลีกได้ทำการทดสอบกันอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าแนวคิดใหม่ ๆ นี้ จะล้มเหลวหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ได้แสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความพยายาม ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆกับพวกเขา”

การเลือกชมสินค้าแบบเสมือนจริงออนไลน์ (Virtual Appointment)

หนึ่งในวิธีที่แบรนด์สามารถปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ก็คือการช้อปปิ้งออนไลน์ พร้อมบริการแนะนำ เช่น โปรแกรมดิจิตอลเพื่อการตอบคำถาม หรือการสาธิตผลิตภัณฑ์

Melissa Gonzalez ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท ที่ปรึกษาด้านการค้าปลีก The Lionesque Group เล่าถึงประสบการณ์การนัดหมายออนไลน์แบบตัวต่อตัว กับแบรนด์ความงามสุดหรู Chanel ในย่าน SOHO ของนิวยอร์ก เพื่อรับบริการสอนแต่งหน้า และการนัดหมายร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน West Elm เพื่อเตรียมตกแต่งห้องนั่งเล่น

พร้อมให้ความเห็นว่า การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆลักษณะนี้ของแบรนด์ แม้จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับลูกค้า แต่ก็นำมาซึ่งโอกาสของการเพิ่มยอดขายที่ค่อนข้างสูง การนัดหมายช้อปปิ้งออนไลน์แบบนี้ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังได้รับบริการที่ประทับใจ สร้างความมั่นใจ ที่นำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้าที่มากขึ้นตามไปด้วย

แบรนด์เสื้อผ้า Paige ก็แนะนำวิธีใหม่นี้ให้กับลูกค้าเช่นกัน โดยใช้ Paige Virtual Styling ที่แบรนด์จำกัดความว่า เป็นแพลตฟอร์มซึ่งสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบตัวต่อตัว ระหว่างลูกค้ากับผู้เชี่ยวชาญการขาย ผ่านการประชุมทางวิดีโอ เพื่อรับชมคอลเล็กชันล่าสุด และเลือกซื้อสินค้าตามฤดูกาล โดยผู้บริโภคสามารถเลือกแอพพลิเคชั่นสำหรับการประชุมผ่านวิดีโอได้อย่างหลากหลาย ทั้ง Facetime, Zoom, Google Hangouts หรือ WhatsApp

Paige Adams-Geller ผู้ร่วมก่อตั้งและ Creative Director ของแบรนด์กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเข้าใจความสำคัญของช่องทางโซเชียลมีเดีย และการใช้อีเมล ที่จะมามีบทบาทในการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเราได้เชื่อมโยงสื่อเหล่านี้โดยตรงกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรา บริการ Virtual Styling ช่วยให้พนักงานของ Paige ยังคงทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการเชื่อมโยงร้านค้าไปสู่ลูกค้า”

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือใหม่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค เช่น การเริ่มไลฟ์สตรีมมิ่งบนอินสตาแกรม ไม่ใช่เพียงแต่การขายสินค้า แต่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกจิตใจ การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงหลักการแต่งกาย แนะนำหนังสือ และเพลงหรือรายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยม ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อการเชื่อมต่อกับชุมชน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับแบรนด์ ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค

การให้ “เช่า” สินค้า (peer-to-peer rental)

Steve Cody และ Bruce Linton อดีตซีอีโอของ บริษัท Canopy Growth ผู้ก่อตั้ง Ruckify มาร์เก็ตเพลสสำหรับการให้เช่าระหว่างบุคคล ซึ่งก่อตั้งมาแต่ปี 2018 บนแนวคิดดั้งเดิมเพื่อให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการรายได้เสริม และในวันนี้เปิดกว้างสำหรับผู้ค้าปลีก และแบรนด์ ที่ต้องการสร้างเม็ดเงินจากสินค้าคงเหลือในคลัง

พร้อมยกตัวอย่างถึง ตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต 2-3 เท่า นับแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้น

“ในขณะที่แบรนด์ต่างต้องมองหาแพลตฟอร์มสำเร็จรูป เพื่อให้เช่าสินค้า Ruckify เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะเรามีการสื่อสารกับผู้ค้าปลีกอยู่แล้วแต่ต้น”

เป็นเรื่องปกติที่แบรนด์จะต้องการโซลูชัน ที่สามารถ Outsource ได้อย่างง่ายดาย เทียบกับการลงทุนและใช้เวลาในการพัฒนาเองภายในบริษัท วันนี้ค้าปลีกสายกีฬาอย่าง Play It Again Sports ก็มี URL ของตัวเองบนเว็บไซต์ Ruckify แล้ว

ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่กำลังขยับขยายมาสู่ธุรกิจให้เช่า Urban Outfitters เปิดตัวบริการเช่าเสื้อผ้า Nuuly เมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการเพิ่มเติมบริการเช่า โดยใช้แพลตฟอร์มของแบรนด์เองนั้น ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงและใช้เวลานานในการพัฒนา และโดยทั่วไปแบรนด์เสื้อผ้า มีพื้นฐานการบริการจากรูปแบบของคลังสินค้า การเอ้าท์ซอสจึงเป็นเสมือนทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ที่จะเพิ่มบริการให้เช่าได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น

ความหลากหลายตั้งแต่โรงยิมที่เปิดให้เช่าเครื่องออกกำลังกาย บริษัทจัดงานแต่งงานที่ให้เช่าชุด ผลิตภัณฑ์กีฬาที่ให้เช่ายืมอุปกรณ์ และแนวโน้มเหล่านี้ กำลังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่ง Ruckify อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมมาก

Cody อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราช่วยหลายคนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 200 – 300 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และเรายังช่วยให้แบรนด์ต่างๆ กอบกู้ยอดขายจากสินค้าคงคลัง ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะเราจะไม่มีรายได้จนกว่าคุณจะสร้างรายได้” เขากล่าวเสริมโดยระบุว่า Ruckify จะได้รับเงิน 10% ของรายได้จากธุรกิจในมาร์เก็ตเพลส ที่ตอนนี้ยังคงให้บริการฟรีอยู่

ธุรกิจฝากขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต (Consignment store)

Neighborhood Goods กำลังจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ในศตวรรษนี้ ผู้ก่อตั้งและ CEO Matt Alexander กล่าว โดยจากจุดยืนเริ่มต้น เพื่อสร้างพื้นที่จัดกิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ ในการจัดแสดงสินค้า โดยธุรกิจเริ่มจาก Neighborhood Goods ขนาดเล็กมากเพียงห้องเดียว แต่ก็มีแบรนด์ต่างๆจำนวนมากที่หาไม่ได้ในร้านค้าทั่วไป วันนี้ Neighborhood Goods มีแผนการที่ใหญ่กว่านั้น โดยขยายไปยังแบรนด์ชื่อดังอย่าง Dollar Shave Club, Modern Citizen, Aesop และ Fossil

จิตวิญญาณดั้งเดิมของร้านค้าที่เสริมด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าเปิดใช้งานมาได้โดยตลอด แม้วจะมีการปิดสาขาตั้งแต่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา  และสาระสำคัญก็คือเป็นธุรกิจที่ใช้วิธีการฝากขาย

ขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง Neighborhood Goods ได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งพึ่งพาการค้าส่งเป็นหลัก และแน่นอนว่า ติดกับอยู่บนภาระสินค้าคงคลังที่ถูกยกเลิกการสั่งซื้อ

“แบรนด์ต้องการช่องทางใหม่เพื่อกระจายสินค้า เรากำลังพิจารณาลดเงื่อนไขในการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของเรา โดยเปิดโอกาสให้กับทั้งแบรนด์ท้องถิ่น และแบรนด์ระดับชาติ” Alexander กล่าว

โดยหลักแล้ว บริษัทฯได้เปิดตัวแพลตฟอร์มฟรีที่เรียกว่า The Commons by Neighborhood Goods สำหรับแบรนด์ร้านอาหาร นักดนตรี และศิลปิน เพื่อดึงดูดและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และเสริมสร้างธุรกิจของคนเหล่านี้ให้แข็งแรง ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีการสนับสนุนฟังก์ชันอีคอมเมิร์ซเข้าไปด้วย

Made-to-order

แบรนด์สินค้ายีนส์ชื่อดังอย่าง Duer กำลังเดินไปตามเส้นทางใหม่ โดยระบุว่าหลังจากสูญเสียรายได้ถึง 75% ในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เพราะผลพวงจากการระบาดของโควิด -19 แบรนด์จึงต้องสร้างสรรค์แนวทางใหม่ในการค้าปลีก

Gary Lenett ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทกล่าวว่า บริษัทฯ กำลังเปิดตัวบริการใหม่ Next by Duer ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเฉพาะตัวก่อนการผลิต เมื่อสรุปการขาย คำสั่งซื้อจะถูกส่งไปยังโรงงานเพื่อผลิต และจัดส่งไปยังลูกค้า วิธีการนี้ช่วยลดต้นทุนของบริษัทอย่างง่ายๆ เพราะเป็นการผลิตสินค้าที่ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้นทุนนี้ถือเป็นผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง เรียกว่าบริการ made to order นี้ สามารถลดต้นทุนของสินค้าได้ถึงกว่า 20%

วิธีการขายล่วงหน้า เป็นการสร้างอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ นำไปสู่การบริหารสินค้าคงคลังที่ได้ผล และยังดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะช่วยลดขยะได้ Lenett กล่าวว่า Duer สามารถประสบความสำเร็จในส่วนนี้ได้ เพราะโรงงานผลิตที่เป็นพันธมิตร ซึ่งผลิตสินค้าให้โดยเฉพาะกับ Duer และเป็นเจ้าของสัดส่วนหุ้นของบริษัทถึง 50%

ในอดีต Duer เคยประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านโมเดล kickstarter เพื่อสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์เฉพาะตัว ซึ่ง Next by Duer ได้เดินตามแนวทางที่คล้ายคลึงกัน “วิธีการเก่าแก่ ที่ผลิตสินค้าคงคลังเพื่อเก็งกำไร จากนั้นใช้แคมเปญการตลาดราคาแพงเพื่อขายให้ได้ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองอย่างมาก” Lenett กล่าว

เรื่องของความเอนกประสงค์เป็นกุญแจสำคัญ (Versatility)

สำหรับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา Vuori ธุรกิจที่การค้าส่ง มีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของภาพรวมก่อนเหตุการณ์โควิด-19

เมื่อ Vuori โดนระงับคำสั่งซื้อทั้งหมดของเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เหลือสินค้าคงคลังมากกว่าที่วางแผนไว้ และจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการขายเป็นขายตรงไปยังลูกค้าทั้งหมด (Direct to Consumer – DTC)

Joe Kudla ผู้ก่อตั้ง Vuori กล่าวถึงการปรับตัวที่แบรนด์ได้ลงมือทำ โดยเริ่มจากการสื่อสารภาพลักษณ์ของสินค้าใหม่ จากเสื้อผ้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง และการท่องเที่ยว เปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารถึงฟังก์ชันความสะดวกสบายและความคล่องตัว

กระแส new normal ที่มีคน work from home จำนวนมากขึ้น ความเอนกประสงค์ของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะลูกค้าต้องการเสื้อผ้า ที่เหมาะสำหรับการประชุมออนไลน์ แต่ก็ยังต้องสวมใส่ได้สำหรับการออกกำลังกายด้วย และแน่นอนว่าความสะดวกสบายเป็นหัวใจของการสื่อสารภาพของสินค้าไปยังผู้บริโภค

Vuori ตระหนักถึงความจำเป็น ที่ต้องมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับลูกค้ามากขึ้นให้ได้ ด้วยระบบดิจิทัล ยกตัวอย่างการริเริ่ม เช่น การ Live คลาสออกกำลังกายบน Instagram ทุกเช้า

และที่สำคัญไปกว่านั้น Vuori ลงมือปรับแต่งสินค้าของคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วง ทำให้กว่า 80% สามารถขานต่อไปได้จนถึงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าคงคลังเกินต้องการในอนาคต จากที่ในอดีตต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ส่วนลดเปอร์เซ็นต์สูงๆเพราะสินค้าตกรุ่น

Kudla กล่าวว่า “คอลเลกชันจำนวนมากของเราสามารถขายได้ข้ามฤดูกาล ในอนาคต เราจะสามารถจัดการกับปัญหาสต๊อคล้นได้อย่างแน่นอน”

เอาท์ซอสกลับมามีบทบาทอีกครั้ง (Outsourcing)

Cuts Clothing แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดย Steven Borrelli ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO Borrelli ได้รับแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจ จากที่เขาไม่สามารถหาเสื้อยืดที่ใส่ได้พอดี และด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายนี้ Cuts Clothing มียอดขายเพิ่มขึ้นจากไม่กี่ล้านดอลลาร์ในปีแรก เติบโตเป็นตัวเลขแปดหลักในปีที่สอง แบรนด์ใช้วิธีการเข้าหาลูกค้าที่มีโพรไฟล์ไม่ธรรมดาให้ช่วยพรีเซนต์สินค้า เช่น quarterback ชื่อดังของทีมแคนซัสซิตี้ Patrick Mahomes

ส่วนหนึ่งของความท้าทายสำหรับแบรนด์ ก็คือการออกแบบขนาดเสื้อผ้าให้พอดีสำหรับลูกค้าแต่ละคน และเรื่องของ size เป็นเรื่องที่ลูกค้าพอใจจนเป็นเรื่องหลักที่มีการบอกต่อกันไปปากต่อปาก

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้นักช้อปสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการซื้อสินค้าออนไลน์ แบรนด์ได้แนะนำลูกค้าให้ซื้อสินค้ามากกว่า 1 size โดยให้สามารถคืนสินค้าได้ภายใน 30 วัน

และสำหรับการรับมือกับขั้นตอนการคืนสินค้า Cuts ได้ทำสัญญากับ Happy Return ที่มีถึง 700 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ลูกค้าสามารถส่งคืนสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น เพียงแต่นำสินค้าไปคืนตามสาขาต่างๆ โดยไม่มีภาระเรื่องของการแพ็คสินค้าเพื่อส่งคืน

ลูกค้าของ Cuts ต่างก็ชื่นชอบบริการที่เข้ามาจัดการโดยเอาท์ซอสรายนี้อย่างมาก โดย Borrelli กล่าวเสริมว่าวิธีการนี้ เป็นการช่วยเหลือให้บริษัทฯเอาชนะหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อก้าวเข้ามาในธุรกิจค้าปลีกดิจิทัล นั่นก็คือความยุ่งยากในการคืนสินค้า

Borelli เสริมในตอนท้ายว่า การร่วมมือกับ Happy Return ช่วยให้ บริษัท ได้มีตัวแทนที่มุ่งเน้นในด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ Cuts สามารถทุ่มเทพลังงานทั้งหมดมาสร้างสรรค์ การเป็นแบรนด์เสื้อ T-shirt ที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง

จุดจบของค้าส่ง?

ในท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าธุรกิจการค้าส่งกำลังยืนอยู่ที่ปากเหว ซึ่ง Real Bahari ให้ความเห็นสรุปว่า ธุรกิจค้าส่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ต้องทำงานร่วมกันกับค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพและไปในทิศทางที่เกื้อหนุนกัน เช่นเดียวกับแบรนด์ที่ต้องทำความเข้าใจในความสำคัญของค้าส่งด้วย

ในเรื่องกลยุทธทางการตลาดของแบรนด์ ยังเป็นเรื่องเก่าที่เป็นหัวใจ นั่นก็คือต้องสร้างความประทับใจในทันทีที่ลูกค้าก้าวเข้าไปในร้านเพื่อเลือกชมผลิตภัณฑ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตามระบบการขาย ต้องมีการออกแบบใหม่ เพื่อให้เป็นผลดีกับทุกๆคนในวงจรธุรกิจแทนที่จะทำให้ค้าส่งตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดเช่นปัจจุบันนี้ และแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการปรับตัวและการต่อรองกันใหม่ ซึ่งแบรนด์เองก็ต้องมีความพร้อมกับอนาคต

ค้าส่งอาจไม่ใช่สัดส่วนใหญ่ที่สุดของยอดขาย ในช่องทางการขายทุกระดับต้องหันมามองที่ DTC  (Direct To Customer) ซึ่งก็คือการขายตรงไปยังผู้บริโภค เพื่อลดความเสี่ยงและภาระที่น่าปวดหัวในระยะยาวของสินค้าล้นสต๊อค

Source

error: Content is protected !!