fbpx
News update

จัดอันดับประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกปี 2019

Onlinenewstime.com : เมื่อพูดถึงประเทศที่เป็นผู้นำ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดท๊อปเท็นโลกในปีนี้ มีการปรับอันดับเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อ้างอิงข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ผู้เล่นหลักติดอันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นสหรัฐฯและจีน ซึ่งโดยพื้นฐานสหรัฐฯนำหน้าอยู่ที่มูลค่า GDP 21.44 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าจีนถึง 7.3 ล้านล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่า ครองตำแหน่งต้นแถวติดต่อกันมานานกว่า 10 ปี

แต่จีนที่ตามมาที่อันดับ 2 ในตัวเลข 14.44 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ในบางสถาบันที่ใช้ตัวเลข GDP base on PPP (Purchasing Power Parity) หรือ GDP ต่อหัว มาประกอบการวิเคราะห์ กล่าวว่า “จีนกำลังจะแซงหน้าสหรัฐ” ในฐานะเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกใน 10 ปีข้างหน้า เพราะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า

อันดับต่อมา คือ ญี่ปุ่นครองที่ 3 ด้วยตัวเลข 5.15 ล้านล้านดอลลาร์

ตามมาด้วยเยอรมันที่ยังรักษาอันดับ 4 ไว้ได้ แม้ตัวเลข GDP จะลดลงเป็น 3.86 ล้านล้านเหรียญในปี 2019

สำหรับอันดับที่ 5 ที่เคยเป็นของอังกฤษ ถูกอินเดียแทรกขึ้นมา ที่มูลค่า 2.94 ล้านล้านดอลลาร์

อังกฤษ ครองอันดับ 6 ที่ตัวเลข 2.74 ล้านล้านเหรียญ

อันดับ 7 เป็นของฝรั่งเศส ที่ 2.71 ล้านล้านเหรียญ

อิตาลีอยู่ในอันดับ 8 ด้วยเศรษฐกิจ 1.99 ซึ่งตัวเลขลดลงจาก 2.08 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018

อันดับ 9 ในรายการคือบราซิล ด้วยเศรษฐกิจมากกว่า 1.85 ล้านล้านดอลลาร์

ในขณะที่แคนาดาอยู่อันดับ 10 ด้วยมูลค่า 1.73 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับการคาดการณ์ของ IMF เกี่ยวกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.9% ในปี 2019 เป็น 3.3% ในปี 2020 และ 3.4% สำหรับปี 2021 ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขลดลง 0.1% และ 0.2% สำหรับปี 2021 เทียบกับการรายงานคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา

การปรับลดตัวเลขการเติบโต สะท้อนจากปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่อการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ เช่นการชะงักของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งนำไปสู่การประเมินแนวโน้มการเติบโตในอีกสองปีข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลกระทบของความไม่สงบในสังคมที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจโลก ที่มีผลจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้าที่มีความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามสัญญาณทางบวกยังคงมีให้เห็น โดยสถานการณ์ภาคการผลิตและการค้าโลกนั้น กำลังยกระดับและปรับฐานไปสู่นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น ตั้งแต่ข่าวของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการคลี่คลายปัญหาการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป แบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit)

IMF ระบุเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศ ออกมาตรการลดการปล่อยคาร์บอน และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Cr. IMF

error: Content is protected !!