fbpx
News update

จัดสภาพแวดล้อมรอบบ้านป้องกันแมลง-สัตว์มีพิษ ช่วงหน้าฝน

Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ ทำความสะอาดบ้านและจัดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปลอดภัยในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันอันตรายจากแมลงและสัตว์มีพิษ          

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝน ประชาชนมักได้รับผลกระทบจากแมลงและสัตว์มีพิษที่เข้ามาในบริเวณบ้าน เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง บางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้ โดยเฉพาะงู มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา

การป้องกัน ควรทำลายแหล่งอาหารของงูอย่างเช่นหนู โดยกำจัดเศษอาหารตกค้าง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู สำรวจบริเวณรอบบ้าน และปิดช่องทางที่หนูและงูสามารถเข้ามาได้ รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อ ไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก ควรตรวจสอบรองเท้าก่อนใส่ เนื่องจากงูอาจหลบซ่อนอยู่

หากพบงูอยู่ในบ้าน ให้โทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ กรณีถูกงูกัด การปฐมพยาบาล ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ให้ระวังตะขาบ เพราะเมื่อโดนกัด จะทำให้มีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบน้ำอุ่น ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้น

ส่วนสัตว์มีพิษอีกชนิด คือ แมงป่อง หากถูกแมงป่องต่อย อาการส่วนใหญ่คือปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อย โดยมากมีอาการในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปฐมพยาบาล โดยทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็น ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ได้เช่นเดียวกัน

 “ทั้งนี้ ประชาชนควรทำความสะอาดสภาพแวดล้อม ทั้งในบ้านและนอกบ้าน จัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับชื้น หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของแมลง และสัตว์มีพิษ ทิ้งขยะ หรือเศษอาหาร ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง

สัตว์มีพิษภายในบริเวณบ้าน หากมีการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ควรตัดแต่งไม่ให้รกรุงรัง พร้อมกับกำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เป็นที่อาศัยของแมลงและสัตว์มีพิษได้ ในกรณีที่มีเด็กเล็ก ควรดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

error: Content is protected !!