fbpx
News update

ขยายผลพื้นที่พิเศษสู่มาตรฐานเมืองสร้างสรรค์โลก

onlinenewstime.com : อพท. เตรียมขยายผล นำแนวคิดด้านแผนงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น และทรัพยากรที่โดดเด่นของพื้นที่ ต่อยอดพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษอื่นๆ มุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์     

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (Creative Cities Network) เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ ที่ยูเนสโกดำเนินงาน ควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก โดยเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติ ของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ

ซึ่งยูเนสโก ได้ให้คำจำกัดความว่า “Creative City” คือ การร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมือง ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่น มาผสมผสาน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ  

ปี 2562 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) จำนวน 66 เมืองทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยได้รับเลือก เป็นเครืองข่ายเมืองสร้างสรรค์ 2 เมือง คือ กรุงเทพมหานคร ด้านการออกแบบ (City of Design) และสุโขทัย ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) รวมขณะนี้ มีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 246 เมืองทั่วโลก 

ทั้ง 2 เมืองในประเทศไทย ได้รับคัดเลือก เพราะ เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการดำเนินงาน ของเครือข่ายในระดับสากล สร้างโอกาส ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างเมืองสมาชิก นำไปสู่การพัฒนาเมือง อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21

โดยกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ ในด้านการออกแบบเมือง มีการยกระดับความรู้ดั้งเดิม เสริมสร้างด้วยการบูรณาการ ร่วมกับสหสาขาวิชาต่างๆ ทั้งด้านการวางผังเมือง สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี

ขณะที่สุโขทัย นอกจากเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว ยังคงเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะ หัตถกรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิม ไว้เป็นอย่างดี  

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าว ในฐานะผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน และผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุโขทัยว่า

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล

ได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุโขทัย ภายหลังได้รับการประกาศเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) จากองค์การยูเนสโก

โดย อพท. จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง  ดำเนินการรวบรวม ฟื้นฟู พัฒนา และต่อยอดงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ของจังหวัดสุโขทัย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นปัจจัย ในการขยายโอกาส

ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว และการพาณิชย์ แก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการ ด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก

แนวทางการทำงานดังกล่าว จะส่งผลต่อการขยายตัวของรายได้ จากการท่องเที่ยวของจังหวัดและภาพรวม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านงานศิลปหัตถกรรม และความร่วมมือ ระหว่างจังหวัดสุโขทัยกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ขององค์การยูเนสโกกว่า 246 เมืองจากทั่วโลก

โดยการทำงาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย ของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

นับจากนี้ อพท. และจังหวัดสุโขทัย จะเร่งบูรณาการ ความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมในการใช้ UNESCO Creative City เป็นโมเดลสำคัญของการพัฒนาเมือง ผ่านการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

สร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ รวมถึงบุคคลที่ด้อยโอกาส ได้นำแนวทางที่เป็นประโยชน์ ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ส่งต่อความรู้สึกความหวงแหน และความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น

โดยมีการพัฒนาพื้นที่หัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน และส่งเสริมขีดความสามารถ ในการสร้างสรรค์การผลิต และบริการทางวัฒนธรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามเป้าหมาย การพัฒนาตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2560-2564

ดึงเมืองในพื้นที่พิเศษมุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์

ด้านการขยายผล ในปี 2563 มอบนโยบายให้ อพท. นำแนวทางการดำเนินงาน ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ที่มุ่งมั่นดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นำความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ ให้เกิดการพัฒนาและบูรณาการความร่วมมือ กับหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่แต่ละจังหวัด

เป้าหมายคือเมืองในพื้นที่พิเศษ ตามพระราชกฤษฎีกาเดิม ได้แก่ น่าน สุพรรณบุรี เชียงราย และเพชรบุรี เพื่อเตรียมพร้อม สู่การยื่นใบสมัครเสนอ ขอเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปี 2564 และนำประโยชน์จากโมเดลการพัฒนานี้ ไปใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเมือง ในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืนต่อไป