fbpx
News update

กรมอนามัย เผยอากาศพื้นที่โรงงานเสี่ยงทำให้เกิดฝนกรด แนะชาวบ้านงดรองน้ำใช้

Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เสี่ยงทำให้เกิดฝนกรด แนะงดเก็บน้ำฝน หากจำเป็นควรทำความสะอาดหลังคา รางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้พร้อมใช้งาน ลดปัญหาสารปนเปื้อนในอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะผู้ปกครอง ครู หมั่นดูแลสุขภาพเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนในช่วงหน้าฝนอย่างใกล้ชิด ป้องกันการป่วยง่ายจากโรคติดต่อ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ ล้วนมีความเสี่ยงจากฝุ่นละออง ไอจากท่อไอเสีย ควันจากโรงงาน เพราะอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และสารเคมีต่าง ๆ

โดยเฉพาะก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ที่จะปนเปื้อนกับน้ำฝนที่ตกลงมา เกิดเป็นภาวะฝนกรดคือ มีค่าพีเอชต่ำกว่า 5.6 ที่เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งก่อสร้างอย่างมาก

รวมถึงพื้นที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก จังหวัดสมุทรปราการ ที่เกิดการระเบิดจนทำให้เพลิงไหม้โรงงานในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าการตรวจสอบคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษล่าสุดพบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวยังต้องเฝ้าระวัง และงดการรองน้ำฝนไว้ใช้ เพื่อความปลอดภัย

ซึ่งจากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในครัวเรือน​ ในรอบ​ 3​ ปีที่ผ่านมา ​(พ.ศ.​2561-2563)  พบว่า​ น้ำฝนผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภค​ ​กรมอนามัย​ พ.ศ.​ 2563​ เฉลี่ยร้อยละ​ 17.4 ส่วนใหญ่มีปัญหาการปนเปื้อนแบคทีเรีย​ สี​ ความขุ่น​ และความเป็นกรด​ ด่าง​ ซึ่งเกิดจากการสุขาภิบาลน้ำบริโภคในครัวเรือน ไม่ถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่​การรองรับน้ำฝน​ การเก็บกักน้ำฝน​ การดูแลรักษาความสะอาดของภาชนะบรรจุน้ำฝน จนถึงวิธีการนำมาใช้บริโภค

“ทั้งนี้ การเก็บน้ำฝนอย่างปลอดภัย จึงไม่ควรรองรับน้ำฝนที่ตกในช่วงแรก ๆ ควรปล่อยให้ฝนตกสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาให้สะอาด โดยวิธีการเก็บน้ำฝนไว้ใช้อย่างปลอดภัย ควรเริ่มจากการทำความสะอาดหลังคา รางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้พร้อมใช้งาน ส่วนภาชนะใช้รองรับน้ำฝน ก็ต้องล้างให้สะอาดปิดด้วยมุ้งพลาสติก และปิดภาชนะให้มิดชิด ไม่เปิดทิ้งไว้ ป้องกันการปนเปื้อนของน้ำที่ใช้บริโภคในครัวเรือน และเพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้มให้เดือด เป็นการลดอัตราเสี่ยงจากการเจ็บป่วยเนื่องจากน้ำเป็นสื่อ อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

error: Content is protected !!