fbpx
News update

กรมอนามัยเปิดตัว TEEN CLUB สื่อสารเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม

Onlinenewstime.com : สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาที่ถูกต้อง พร้อมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมอบบริการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดฟรี ที่สถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั่วประเทศ

เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม สามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง เพื่อปกป้องเยาวชนไทยให้มีอนาคตที่สดใส เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี

จากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า สถานการณ์ด้านประชากรของไทยนั้น มีปัญหาหลักๆ อยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือปัญหาการเกิดน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในงานวางแผนครอบครัว และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยคนรุ่นใหม่ นิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น และความนิยมในการมีบุตรลดลง

ส่งผลให้อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2562 โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 – 49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.54 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิดมีเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน (มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562)

ปัญหาส่วนที่ 2 คือปัญหาการเกิดที่ไม่พร้อมและด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ส่วนวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน ในปีเดียวกันนั้น มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรทั้งหมด 63,831 คน แบ่งเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651 คน และต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 คน และยังพบว่ามีผู้หญิงที่อายุต่ำว่า 20 ปีที่มีการตั้งครรภ์ซ้ำและให้กำเนิดบุตรอีกถึง 5,222 ราย (สำนักอนามัยเจริญพันธุ์, 2562)

จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560 – 2569)  ส่งผลให้หน่วยบริการ มีการจัดบริการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น

โดยจากการประเมินการจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ของ โรงพยาบาลภาครัฐในประเทศไทย พ.ศ.2562 พบว่ามีโรงพยาบาลจัดบริการใส่ห่วงอนามัยชนิดทองแดงเพิ่มเป็นร้อยละ 76.2 จัดบริการฝังยาคุมกำเนิดชนิด 1 หลอดและ 2 หลอดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.5 และ 22.3  ตามลำดับ (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2562)

อย่างไรก็ตามวัยรุ่นไทยจำนวนมาก ยังขาดการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพ และสิทธิในการรับบริการทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการคุมกำเนิด ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า ทางเลือกแรกสำหรับวัยรุ่นในการคุมกำเนิด ควรจะเป็นการคุมกำเนิดประเภทกึ่งถาวร ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยเนื่องจากสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลานาน 3, 5 และ10 ปี และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยม ในกลุ่มวัยรุ่นไทย

กรมอนามัยจึงได้เปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อเป็นช่องทางให้คนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่น ได้เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การคุมกำเนิด สิทธิและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับวัยรุ่น โดย TEEN CLUB จะเป็นศูนย์กลางความรู้ต่างๆ ที่วัยรุ่นมักมีข้อสงสัยแต่อาจจะไม่กล้าถามใคร ทั้งในรูปแบบบทความและวิดีโอ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เช็กสิทธิ ในการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิด ค้นหาสถานบริการที่ให้บริการคุมกำเนิด มีฟีเจอร์บันทึกประจำเดือน ช่วยเช็กการมาของรอบเดือน และยังมีบริการสายด่วน 1663 และ Chat Bot ตอบคำถามเพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ ผู้สนใจสามารถแอดไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club หรือ QR Code ด้านล่าง

นอกจากการสร้างความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว กรมอนามัยยังร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ด้วยการสนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร ด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิด แก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า20ปีทุกกรณี และในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ให้กับสถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  

นายแพทย์มนัส รามเกียรติศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กรมอนามัยมีความพยายาม ในการดำเนินงาน ทั้งในแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เรามีนโยบายมอบบริการการคุมกำเนิดฟรี เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมกันนี้ เรายังสร้างเกราะป้องกันวัยรุ่นไทย ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด

เราอยากสนับสนุนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง และมีทัศนคติที่ดีในประเด็นการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะการคุมกำเนิด เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการป้องกันตัวเองและป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต 

การดำเนินงานตามนโยบายนี้ยังสอดคล้อง กับแนวทางการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ ICPD – The International Conference in Population and Development และเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 3.7.1 ที่มุ่งเน้นให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีความต้องการเรื่องการวางแผนครอบครัวพอใจกับการคุมกำเนิดสมัยใหม่ด้วย”   

ปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำลายอนาคตที่สดใสของวัยรุ่นไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งยังส่งผลกระทบในเชิงลบ ไปยังสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม การให้ความสำคัญกับเยาวชน ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจและการให้บริการด้านการคุมกำเนิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมว่าการคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นเดียวกัน

error: Content is protected !!