fbpx
News update

วิศวะ มข. พร้อมผลิตบัณฑิตด้านดิจิทัลรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผนึก 5 มหาวิทยาลัยจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์”

Onlinenewstime.com : รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงการลงนามความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยในการจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering)” ว่ามข.มีความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ

ซึ่ง A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ได้มีการนำมาใช้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน บุคลากรด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์กลับขาดแคลน สวนทางกับความต้องการกำลังคน

14 สาขาวิศวะ มข.พร้อมเสริมทักษะAI

“14 สาขาวิชาของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ล้วนมีการจัดการเรียนการสอน ที่จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าถึงระบบ A.I. ได้ โดยมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีความเร็วสูง มีชุดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้  และมีคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพสูง

รวมถึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร การแพทย์พยาบาล หลากหลายสาขา ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาได้” รศ.ดร.รัชพล กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับความร่วมมือในการจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างมข. กับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ถือเป็นการดำเนินการภายใต้หลักสูตร A.I. Sandbox การจัดการศึกษาที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ

รวมถึงเป็นแกนกลางในการช่วยประสานงาน ระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษา แบ่งปันทรัพยากรและเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ชู 4 ด้านดึง A.I.ช่วยพัฒนาคน-ธุรกิจ

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวต่อว่า มข.มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยี A.I. มาใช้ 4 ด้านหลักๆ  คือ

  1. ด้านเกษตรกรรม  มข. ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีการทำเกษตรจำนวนมาก ได้มีการนำเรื่องของสมาร์ทฟาร์ม A.I. เข้ามาช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต  วิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรในการนำเทคโนโลยี A.I.มาใช้  
  2. ด้านการแพทย์ มข.เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีนโยบายเปิดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้น เรื่องการนำ A.I.มาใช้ทางการแพทย์ ได้มีการดำเนินการมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มข.
  3. ด้านภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ มข.ได้มีการทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการนำA.I. มาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่นโรงงานน้ำตาล โรงงานไฟฟ้า และ
  4. ด้านสมาร์ทซิตี้ ขอนแก่นเป็น 1 ในไม่กี่จังหวัดที่มีการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ A.I. มาใช้ในการบริหารจัดการเมืองอยู่แล้ว เพื่อขับเคลื่อนทุกรูปแบบ และมข.มีโมเดลรถไฟฟ้ารางเบา ก็จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนั้น ขณะนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำลังหารือร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ ในการดำเนินการเรื่อง FinTech หรือการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มาใช้ในกลุ่มนักธุรกิจร่วมด้วย

A.I. Engineering เรียนข้ามมหาวิทยาลัย

ความร่วมมือในการจัดตั้ง A.I. Engineering เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเรียนข้ามมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง โดยขณะนี้ทั้ง 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรกลางขึ้นมา และจะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้ข้ามมหาวิทยาลัยได้  

“การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนี้ จะลงทะเบียนเป็นภาคเรียนเหมือนปัจจุบัน แต่ผู้เรียนจะสามารถเลือกเรียนในรายวิชาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยอื่นได้ เช่น เด็กมข.อยากเรียนรายวิชาของม.เชียงใหม่ ก็สามารถเทียบโอนเรียนได้

และเมื่อเรียนจบในรายวิชาดังกล่าว จาก ม.เชียงใหม่ ทางม.เชียงใหม่ ก็จะส่งผลคะแนนกลับมายัง มข. ทาง มข.ก็จะเทียบกับหลักสูตรของมข.เพื่อให้เด็กจบการศึกษา เป็นต้น”คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าว

เพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัล ลดการขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนั้น  80% ของวิชาที่เรียน จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนสมัครเรียนตั้งแต่แรก และจะไปเรียนข้ามมหาวิทยาลัยในรายวิชาที่มหาวิทยาลัยเดิมอยู่ไม่ได้เปิดสอน

โดยการเรียนในรูปแบบดังกล่าว จะเป็นการเรียนแบบโมดูล ที่ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนได้ และมหาวิทยาลัย ก็สามารถร่วมมือในการจัดการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนบุคลากรได้ ช่วยให้สามารถผลิตบุคลากรได้เร็วขึ้น ลดการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล

“สถาบันฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ทุกมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลได้เท่าทันกับความต้องการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของคนในประเทศได้เร็วขึ้น เพราะหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่คนวัยทำงานที่ต้องการ Re-skill หรือ Up-skill สามารถมาเพิ่มเติมความรู้ และทักษะโดยจะได้รับใบประกาศนียบัตร  

ขณะที่นักศึกษาก็ได้รับการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทักษะด้าน A.I. ได้ทันที เมื่อจบออกไปสามารถทำงาน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” รศ.ดร.รัชพล กล่าว

เปิดโอกาสผู้เรียนได้หลายปริญญา

มข. เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในหลากหลายปริญญา เพราะปัจจุบันองค์ความรู้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง อาจไม่เพียงพอในการออกไปทำงานในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กได้หลายปริญญาร่วมกันและเด็กสามารถเลือกเรียนได้ โดยหลักสูตรเบื้องต้นจะมีแบ่ง A.I. เป็นกลุ่มๆ เช่น A.I.ด้านการแพทย์ A.I. ด้านการเกษตร A.I.ภาคอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

แบ่งเป็นโมดูลให้เด็กได้เลือกเรียน โดยจะเริ่มในกลุ่มของนักศึกษา ที่เรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ขณะนี้สามารถเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ ส่วนนักศึกษาที่จะเปิดรับในหลักสูตรดังกล่าวโดยตรง คาดว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2566

อย่างไรก็ตาม นอกจากความร่วมมือ A.I. Engineering  แล้ว ทาง มข.ได้มีการนำเสนอหลักสูตรระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตร Sandbox  เพื่อที่จะได้ผลิตกำลังคนให้เท่าทันกับความต้องการโครงสร้างของประเทศ โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติในปี 2565 นี้