Onlinenewstime.com : โลกการศึกษาและวิจัยในยุคดิจิทัลไร้พรมแดน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าผนึกความร่วมมือกับ 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน และอินโดนีเซีย มุ่งขยายเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ปี 2566 เพื่อยกระดับพัฒนาการศึกษาและวิจัยบูรณาการ ร่วมเป็นพลังเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจไทย และภูมิภาคโลก
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) กล่าวว่า สำหรับปี 2566 เป็นอีกปีแห่งความสำเร็จ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานโลกจากคณะกรรมการ ABET สหรัฐอเมริกา
ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็น World-Class Engineering เราขับเคลื่อนอนาคตและขยายความสำเร็จสู่ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยผนึกความร่วมมือกับ 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และ มหาวิทยาลัยวูลลองกอง แห่งออสเตรเลียมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบ แห่งสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยฮอลลิม แห่งเกาหลีใต้
มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสถาบันเทคโนโลยีและอุดมศึกษาแห่งฮ่องกง และ มหาวิทยาลัยเพตราคริสเตียน แห่งอินโดนีเซีย
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและสหกิจศึกษา ที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning) เพี่อเสริมคุณภาพของบัณฑิตผ่านประสบการณ์ทํางานในสถานประกอบการ ตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ
สร้างแรงบันดาลใจและศักยภาพแก่ของผู้เรียน คณะอาจารย์ และความก้าวหน้าทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ที่สามารถสนองตอบการแก้ปัญหาได้จริงทั้งในธุรกิจอุตสาหกรรม การพัฒนาประเทศ และภูมิภาคโลก
ความร่วมมือกับออสเตรเลียคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกความร่วมมือกับสองมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง คือ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) โดยมี ศาสตราจารย์ เดนิส เอ็ม. โอ แคโรล (Denis M. O’Carroll) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Water Research Laboratory คณะวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมายังประเทศไทย และร่วมเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ
นอกจากนี้ วิศวะมหิดลยังได้ผสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวูลลองกอง (University of Wollongong) แห่งออสเตรเลีย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ต้อนรับ ศาสตราจารย์ เจียวเตา สี (Jiangtao Xi) คณบดีฝ่ายความร่วมมือนานาชาติ และ มร.สารวนัน นาคารัทธินัม (Saravanan Nagarathinam) ผู้จัดการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สารสนเทศ ที่ได้เดินทางมายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประชุมเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนาจัดทําหลักสูตรร่วมไทย-ออสเตรเลีย
เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาทั้งสองประเทศ งานวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนสหกิจศึกษา และได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ก้าวหน้าในระดับสากล
ความร่วมมือกับสิงคโปร์ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนวัตกรรมสมัยใหม่และการลงทุนสตาร์ทอัพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หารือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design) ดร.โซะ จิม ซอง (SOH Gim Song) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาวิศวกรรมผลิตภัณฑ์ และ ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตศึกษา
โดยผนึกความร่วมมือเพื่อวางแผนงานพัฒนาการออกแบบด้านวิจัยนวัตกรรม ยกระดับความก้าวหน้าของหลักสูตรวิศวศึกษาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สหกิจศึกษา และการพัฒนาบุคคลากรที่มีทักษะและสมรรถนะสูง
ความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ นับเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและซอฟท์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมของเอเชีย ในตลาดโลก ซึ่งมีการพัฒนาอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังร่วมกับ มหาวิทยาลัยฮอลลิม (Hallym University) แห่งเกาหลีใต้ โดยต้อนรับ ศ.ดร.ไทยอง จอง หัวหน้าภาควิชาปัญญาประดิษฐ์ และ ศ.ดร.จูยง คิม ภาควิชา Fiber Engineering คณะ Artificial Intelligence Convergence ในการเจรจาความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ระดับนานาชาติ
ความร่วมมือกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านและมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและมีความหลากหลายของทรัพยากรและวัฒนธรรมนั้น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเพตราคริสเตียน แห่งอินโดนีเซีย (Petra Christian University) ได้เจรจาความร่วมมือและนำเสนอแลกเปลี่ยนงานวิจัยในรูปแบบออนไลน์ร่วมกับ ดร.เอกะเทวี อังไกรนี ฮันโดโย (Ekadewi Anggraini Handoyo) คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหการ พร้อมด้วยทีมบริหารของเพตราคริสเตียน
ส่วนความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันจีนมีการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูงและก้าวหน้าในหลายสาขา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชื่อมต่อความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน (Harbin Engineering University)
โดยต้อนรับ คณะบริหาร และ ดร.ญาสุมินทร์ ไทยสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเทคโนโลยีและวัฒนธรรมไทยจีน มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน นสพ.กิจ สุนทร ประธานศูนย์จีนศึกษาโรงเรียนในเครือข่ายเทพศิรินทร์ นายกฤช สินอุดม ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษาโรงเรียนในเครือข่ายเทพศิรินทร์ ร่วมประชุมหารือความร่วมมือด้านงานวิจัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ การจัดทำหลักสูตรร่วม และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-จีน เพื่อเปิดประสบการณ์เรียนรู้ในสังคมต่างภาษาและวัฒนธรรม
นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังยกระดับงานวิจัยสู่ระดับความร่วมมือนานาชาติ กับ สถาบันเทคโนโลยีและอุดมศึกษาแห่งฮ่องกง (Technological and Higher Education Institute of Hong Kong : THEi) ต้อนรับ ศาสตราจารย์ อลัน คินตั๊กเลา (Alan Kin Tak LAU) ประธานด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของ THEi
โดยทีมคณะวิศวะมหิดล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมงาน Matchmaking Session ในหัวข้อ “Research Workshop with THEi” ซึ่งจัดโดย กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบัน THEi