Onlinenewstime.com : ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ การยกระดับและสนับสนุนด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะช่วยหนุนไทยสู่เป้าหมายการเป็น Medical Hub และช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้วยเพราะเป็นเทรนด์การแพทย์ระดับโลกที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการแพทย์ในอนาคต แนะภาครัฐเร่งสนับสนุนการลงทุน วิจัย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์จีโนมิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ช่วยต่อยอดให้การแพทย์ไทยมีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง ไว้พร้อมให้บริการ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ได้ถูกหยิบยกให้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด และยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในระยะข้างหน้า เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันด้านการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ไทยจำเป็นต้องมีการ upgrade วิวัฒนาการใหม่ ทันโลก ทันสมัย โดยต้องมุ่งไปด้านจีโนมิกส์ เนื่องจากการแพทย์จีโนมิกส์ก่อให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูง และยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตามแผน BCG Model อีกด้วย
“อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย จะเสริมศักยภาพและความพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์ ที่เป็นจุดเด่นสำคัญและมีความพร้อมมากที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมและเร่งสปีดให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ในระดับโลก และแถวหน้าของเอเชียได้ไม่ยากนัก
อีกทั้งสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ทั่วโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 17.9% ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า”
นางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นนวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ที่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต และนำมาใช้ทำนายโอกาสการเกิดโรค การวินิจฉัย การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น เป็นเมกะเทรนด์ที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการแพทย์
โดยหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพความสามารถของจีโนมิกส์ได้ชัดเจน นั่นก็คือ การหาสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำข้อมูลจากการทำ DNA Sequencing หรือการหาลำดับดีเอ็นเอ ไปต่อยอดสู่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA หรือแม้กระทั่งการตรวจคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ (NIPT) ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะมีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน และโรคหายากมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันการแพทย์จีโนมิกส์อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) ภายใต้ โครงการ Genomics Thailand ที่มุ่งพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา ผนวกกับการลงทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้นำด้านการบริการสุขภาพ คาดว่า จะส่งผลให้มูลค่าตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ของไทยขึ้นไปแตะระดับ 1.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบ 4 เท่า
“ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของการถอดรหัสพันธุกรรม และการยกระดับการแพทย์สู่การแพทย์จีโนมิกส์ โดยได้สนับสนุนด้านเงินลงทุนในการจ้างวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมและจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติจึงต้องเร่งสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาคการบริการทางการแพทย์ของไทยมีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงไว้ให้บริการโดยเฉพาะการรักษาพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก กลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของประชาชนคนไทยที่จะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์จีโนมิกส์ได้ง่ายขึ้น โดยมุ่งหวังคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งจะยังประโยชน์ด้านสาธารณสุขของไทยในระยะยาว”