Onlinenewstime.com : ทริสเรทติ้งประเมินแนวโน้มของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง (E&C) ในปี 2568 ว่าจะอยู่ในระดับทรงตัวจนถึงลบ (Neutral – Negative) โดยผู้รับเหมาที่เน้นโครงการภาครัฐมีแนวโน้มจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าผู้รับเหมาที่พึ่งพาโครงการภาคเอกชนเป็นหลัก
โครงการภาครัฐและโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ยังคงเป็นโอกาสในการเติบโตที่สำคัญ โดยในปี 2567 ปริมาณงานในมือรวมของผู้รับเหมาที่ได้รับการจัดอันดับทั้ง 8 รายอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2 เท่าของรายได้รวมต่อปี ในขณะที่โครงการก่อสร้างภาคเอกชนยังคงเปราะบาง โดยผู้รับเหมาที่เน้นโครงการภาคเอกชนมีอัตราส่วนปริมาณงานในมือต่อรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าและการยืดระยะเวลาจ่ายเงินส่งผลให้วงจรเงินสดยาวนานขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้ผู้รับเหมาจำเป็นต้องเพิ่มการก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่อง และทำให้อัตราส่วนหนี้สินอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการก่อสร้างที่เริ่มลดลงอาจช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรและนำไปสู่การปรับตัวที่ดีขึ้นของอัตรากำไรในระยะข้างหน้า
ตลาดการก่อสร้างของไทยในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตอยู่ในกรอบที่จำกัดโดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการก่อสร้างภาครัฐซึ่งอาจเติบโตได้ประมาณ 5% จากการที่รัฐบาลใช้การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลทำให้การอนุมัติงบประมาณปี 2569 ล่าช้าและอาจทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นชะงักงัน นอกจากนี้ การจัดการด้านประเด็นระหว่างประเทศ เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาก็อาจส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาในการอนุมัติโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
ตลาดการก่อสร้างภาคเอกชน คาดว่าจะยังคงซบเซาเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หลักซึ่งได้แก่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก และอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อยู่อาศัยซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด แม้ว่าการก่อสร้างจากภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปี 2567 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2568 แต่แรงส่งดังกล่าวกำลังถูกกดดันจากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความตึงเครียดทางการค้า
ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ และสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของผู้รับเหมาที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 60% ของต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นปูนซีเมนต์ คอนกรีต และเหล็ก ราคาปูนซีเมนต์และคอนกรีตคาดว่าจะลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง ภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน และต้นทุนถ่านหินที่ลดลง ส่วนราคาเหล็กลดลงตามแนวโน้มราคาจากจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยในไตรมาสแรกของปี 2568 ราคาเหล็กในประเทศไทยลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นคาดว่าจะมีผลกระทบในวงจำกัดเนื่องจากค่าแรงคิดเป็นเพียง 20% ของต้นทุนในการก่อสร้าง และแรงงานฝีมือในบริษัทขนาดใหญ่มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ น้ำมันดีเซลยังน่าจะถูกตรึงราคาไว้ในระดับเดิมซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันโลก