fbpx
News update

เปิดสถิติ “ผู้ป่วยจิตเวชไทย” เพิ่มขึ้น 207% ในช่วง 9 ปี กรมสุขภาพจิต ชี้สาเหตุ-แนะการรับมือ

ในรายละเอียดของโรคที่ตามสถิติของปี 2566 พบว่า 3 อันดับแรก คือ 16.72% โรคทางจิตเวชอื่นๆ มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดที่  485,531 คน ตามมาด้วยโรควิตกกังวลที่ 14.06% จำนวน 408,249 คน และโรคซึมเศร้าที่ 13.76% จำนวน 399,645 คน

เมื่อติดตามข้อมูลผู้ป่วยในทุกกลุ่มโรคนั้น จากข้อสังเกตการเติบโตที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2561 พบว่า 10 อันดับแรกของกลุ่มโรคในผู้ป่วยจิตเวช ประกอบด้วย 1. ติดแอลกอฮอล์ 2. โรคทางจิตเวชอื่นๆ 3. โรควิตกกังวล 4. โรคจิตเภท 5. โรคซึมเศร้า 6. ติดสารเสพติดอื่นๆ 7. โรคสมาธิสั้น 8. ติดยาบ้า (Amphetamine) 9. โรคออทิสติก 10. โรคจิตอื่นๆ

ในขณะที่ตัวเลขล่าสุดของปี 2566 ที่ผ่านมา คลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษา จำนวน 2.9 ล้านคน และกลุ่มอาการ ที่มีการป่วยรวมกันได้มากกว่า 50% ประกอบด้วย โรคทางจิตเวชอื่นๆ 16.72% โรควิตกกังวล 14.06% โรคซึมเศร้า 13.76% และโรคจิตเภท 10.32%

เมื่อดูอัตราการเพิ่มของตัวเลขในภาพรวม พบว่ามีตัวเลขที่น่าสังเกตอยู่ด้วยเช่นกัน

ชุดข้อมูลชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มภาพรวมของผู้ป่วยจิตเวช ในช่วง 1 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 139% โดยจากจำนวน 2,347,749 เพิ่มขึ้นเป็น 3,268,761 คน

ผู้ป่วยจิตเวชจากการติดยาบ้า เริ่มมีตัวเลขแสดงในปี 2561 เริ่มต้นที่หลักแสนคน (109,420) และมียอดสูงขึ้น ในทุกๆปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 โดยสถิติผู้ป่วยในปี 2566 อยู่ที่ 173,117 คน

ขณะที่ผู้ป่วยติดแอลกอฮอล์ มีจำนวนสูงมากถึง 580,064 ในปี 2561 แต่มีแนวโน้มการลดลงเหลือ  251,704 ในปี 2562 และลดลงต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 เหลือประมาณ 32% ในปี 2566 ที่ 185,163 คน

ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยแสดงให้เห็นตั้งแต่ในปี 2561 ในอัตราสูงที่ค่อนข้างสูงคือ 26,437 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลของปี 2566 แสดงจำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้นถึง 44,195 คน

ในขณะที่โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะที่น่าวิตกกังวลของสังคมโดยรวม มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นหลัก 3 แสนคนในทุกๆปี และล่าสุดสถิติแสดงจำนวนผู้ป่วยที่ 399,645 คนในปี 2566

ผลพวงต่อเนื่องจากอาการทางจิตเวชนำไปสู่กลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตาย มีการตั้งใจทำร้ายตนเอง ที่ตัวเลขสูงขึ้นอย่างมากจาก 4,722 คนในปี 2558 มากขึ้นเป็น 41,497 คนในปี 2566

นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวโน้มกลุ่มผู้ป่วย ที่ต้องติดตาม คือ ผู้ป่วยติดเกม ที่มีจำนวนหลักร้อยในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี และมีจำนวนถึงหลักพันในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

จากสถิติที่แสดงข้างต้น แสดงถึงปัญหาทางสุขภาพจิตคนไทยที่มีแนวโน้มที่สูงจนน่าวิตก รวมถึงต้องตระหนักว่าสถิติที่แสดง เป็นเพียงตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการรักษาเท่านั้น ทว่ายังคงมีจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มีการบันทึกเก็บข้อมูลไว้

การแก้ไขปัญหานี้ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของครอบครัวและคนใกล้ชิด ในการตระหนักถึงอาการและพฤติกรรมที่มีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช การสังเกตและให้ความสนใจต่อผู้ที่อาจเสี่ยงต่อปัญหาจิตเวชจะช่วยให้พวกเขาได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงและความเสื่อมโทรมทางสุขภาพทั้งร่างกายและจิตในระยะยาว รวมทั้งจะช่วยลดภาระของสังคมโดยรวมได้อีกด้วย

“การรับมือ” ของกรมสุขภาพจิต และ”สาเหตุตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้น”

ในมุมมองของ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ นิวส์ไทม์ ถึงการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของ กรมสุขภาพจิตว่า ครอบคลุมหรือไม่นั้น

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยจิตเวชของกรมสุขภาพจิต ไม่ได้จำกัดเพียงการรักษาและการฟื้นฟูเท่านั้น แต่ยังเน้นในด้านการส่งเสริมและป้องกันด้วย

โดยกรมสุขภาพจิต กำลังดำเนินการตามแผนเพิ่มปริมาณจิตแพทย์ให้มากขึ้น แม้ตอนนี้ยังไม่พอก็จริง จำนวนจิตแพทย์ของเราอยู่ที่ประมาณ 1.25 ต่อ 1 แสนประชากร  ตัวเลขที่เป้าหมายต้องการให้ถึง คือ 1.7 ต่อ 1 แสนประชากร ซึ่งกำลังมีการเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันในระหว่างที่จะเพิ่มจิตแพทย์นั้น นโยบายคู่ขนานในปัจจุบันเป็นเรื่องการทำงานกับภาคส่วนต่างๆให้มากขึ้น การมีภาคีเครือข่ายที่ทำงานทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นเรื่องสำคัญเราอย่ามอง Health Sector และคนที่ทำงานด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เราต้องมองไปไกลกว่านั้น

ซึ่งนโยบายปัจจุบันทำให้ การทำงานด้านสุขภาพจิตนำเรื่องสุขภาพจิตไปอยู่ในทุกนโยบาย เรียกว่า Mental Happy Policy ทำให้มีส่วนร่วม และมีการแชร์ทรัพยากร ไม่ต้องรอการมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว มีทรัพยากรด้านอื่นๆ เราสามารถดึงคนทั่วไปมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานด้านสุขภาพจิตได้

อย่างไรก็ตาม ในด้านของสาเหตุของแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามสถิติผู้ป่วยจิตเวช ย้อนหลังตั้งปี 2558-2566 ที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นถึง 207% และในผู้ปวยทุกประเภทของโรคนั้น ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนมีความเครียดมากขึ้น เกิดขึ้นมาจาก 2 ข้อหลักๆ

ข้อแรก คือ ความเครียดและสังคมเมือง

โลกที่มีการแข่งขันสูง สังคมที่เปลี่ยนแปลงมีความเป็นเมืองมากขึ้น คนใช้เวลากับครอบครัวลดลง และผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ตลอดจนวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ทำให้คนต้องแบกรับภาระมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนในยุคก่อน ส่งผลทำให้คนมีความเครียดและมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

ข้อที่สอง คือ ค่านิยมใหม่ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและการเข้าถึงการรักษา

คนรู้ตัวเองมากขึ้น และเมื่อมองย้อนไป 10-20 ปีก่อน มีคนเจ็บป่วยทางด้านโรคจิตเวชจำนวนมาก แต่มีการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตไม่ถึง 20% ปัจจุบันบางโรคขึ้นมาเป็น 30-50%

อย่างไรก็ตาม การที่คนมีการเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตมากขึ้นนั้น เพราะการสร้างค่านิยมใหม่ ทำให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “โรคจิตเวชไม่ใช่เรื่องความผิดปกติ” แต่เป็นเรื่องของสุขภาพที่ต้องดูแล และการใช้ Social media ทำให้คนกล้าพูดถึงโรคซึมเศร้า โรคจิตเวชอื่นๆ ได้โดยเปิดเผย สามารถแสดงออกถึงประสบการณ์ของตนในโลกออนไลน์ได้ และทำให้มีการรับรู้ว่าการเข้ารับการรักษาไม่ใช่น่าอาย และการมีปัญหาทางสุขภาพจิตไม่ใช่ปัญหาที่ตนเองต้องเผชิญอย่างยากลำบากแต่เพียงลำพัง

นี่เป็นปัจจัยหลักๆที่ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยจิตเวชสูงขึ้น

กรณี 5 อันดับกลุ่มโรค ที่มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นแนวโน้มที่น่าวิตกกังวลหรือไม่สำหรับกรมสุขภาพจิตนั้น ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่เราคาดเดาได้อยู่แล้ว

“ประเภทของโรคไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ปัญหาใหม่ๆหลายๆอย่าง ที่เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้เจอ มีมากขึ้นเรื่อยๆ “

ปัญหายาเสพติด ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมียาเสพติดประเภทใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา

โรคสุขภาพจิตในเด็ก ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ในอดีตอาจจะกังวลเรื่องพัฒนาการเพียงอย่างเดียว ในวันนี้เนื่องจากมีสื่อเทคโนโลยีต่างๆที่หลากหลาย ทำให้เราต้องมากังวลเรื่องการติดสื่อ ติดจอ ติดเกมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นไปด้วย

รวมถึงโรคต่างๆที่กำลังรุมเร้าและเป็นปัญหามากขึ้น เช่น การมีภาพลักษณ์ที่ผิดปกติส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของบุคคล โรคซึมเศร้า หรือกลุ่มโรคทางอารมณ์ ที่มีทั้งโรคซึมเศร้าและโรคไบโพล่าร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

เมื่อมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นผู้ป่วยจิตเวชนั้น การตั้งสติและเข้าใจถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องพยายามเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเวชนั้น เป็นเพียงแค่โรค โรคหนึ่งและสามารถรักษาได้ ต้องช่วยกันดูแลและสนับสนุนเรื่องการรับประทานยา การใช้ชีวิตประจำวัน และพาไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

“ต้องเริ่มตั้งสติก่อน หลายคนอาจจะตกใจว่า ในครอบครัวมีคนเจ็บป่วย ซึ่งอาจทำให้เราตอบสนองด้วยวิธีที่อาจจะไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย”

เมื่อตั้งสติแล้ว พยายามทำความเข้าใจว่า โรคซึมเศร้าหรือโรคอะไรก็ตาม ก็เป็นเพียงแค่โรคๆหนึ่ง  เราอาจจะกังวลหรือกลัว เพราะเรายังไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ จึงต้องไปหาข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจ แล้วเราจะรู้สึกได้ว่า โรคนี้ก็เป็นเพียงโรคหนึ่ง รวมทั้งเราจะเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

“ดูแลการกินยา การใช้ชีวิตประจำวัน พาไปรักษาต่อเนื่องอย่างเหมาะสม หากมีอาการผิดปกติให้พาไปพบแพทย์ คลินิกนอกเวลาก็มีให้บริการ ตรงนี้จะมีส่วนช่วยให้สามารถดูแลคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี”

การสังเกตตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการรับมือกับปัญหาจิตเวช การเข้าใจตนเองในเวลาปรกติ และการรับรู้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถช่วยให้รู้เมื่อถึงเวลาที่ต้องพบแพทย์และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ดร.นพ.วรตม์ แนะว่า “การสังเกตตัวเองว่า ป่วยหรือไม่นั้น ต้องสังเกตบ่อยๆก่อนว่า เวลาปรกติของเรา เราเป็นอย่างไร หลายคนไม่เข้าใจว่า เวลาปรกติฉันยิ้มแบบนี้ มีอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมแบบนี้”

หากไม่เคยเห็น ตัวเองตอนปรกติ เลยไม่รู้จักตัวเองตอนที่ไม่ปรกติ เพราะฉะนั้นใครวันนี้ที่ยังไม่เจ็บป่วย ให้สังเกตตัวเองก่อนเลยว่า เวลาที่เราปรกติเป็นแบบนั้น แล้ววันนั้นเมื่อวันหนึ่งที่มีความผิดปรกติเราจะสังเกตเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

“ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมเข้าสังคม ทำงานไม่ได้เหมือนเดิม เหล่านี้จะเป็นตัวชี้ว่า อาจจะเป็นโรคทางจิตเวชบางอย่าง ให้ไปปรึกษาแพทย์ให้ช่วยวินิจฉัย และเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป”

สำหรับผู้ที่มีข้อกังวลในการพบจิตแพทย์ สามารถโทรปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ กรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต โซเชียลมีเดีย เพื่อหาข้อมูลองค์ความรู้หรือขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา