Onlinenewstime.com : จากชุดข้อมูลขยะทะเลในประเทศไทย ของศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (DMCR Data Center) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เก็บข้อมูลขยะในทะเลไทยต่อเนื่องมาหลายปี
“เว็บไซต์ข่าว ออนไลน์ นิวส์ไทม์” ได้นำมาหาข้อสรุปแนวโน้มประเภทของขยะ ที่จำนวนลดลงและเพิ่มขึ้น โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 13 ปี พบปรากฏการณ์ ที่น่าติดตาม ภาพรวมของขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ
จากปัญหาในอดีต จากถุงพลาสติก Single-Use มาสู่ขวดเครื่องดื่ม และถ้วยชามพลาสติก Single-Use ในวันนี้
เพราะว่าจากในอดีต “ถุงพลาสติกอื่นๆ” เป็นประเภทขยะในทะเลไทย ที่ครองแชมป์อันดับ 1 ติดต่อกันมานาน 9 ปี ( ปี 2553 -2561 และปี 2563 )
ทว่าข้อมูลล่าสุดนั้น ขยะประเภท “ขวดเครื่องดื่มพลาสติก” พลิกมาเป็นขยะที่มีจำนวนมากที่สุดในทะเลไทย 2 ปีติดต่อกัน คือในปี 2564 และปี 2565
ที่น่าติดตาม คือ “ถ้วย-จานและกล่องอาหารพลาสติก” กลายเป็นอีกประเภทของขยะในทะเล ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เห็นได้จากตัวเลขแบบก้าวกระโดด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ในปี 2561 มีจำนวน 29,653 ชิ้น จนถึงปัจจุบันนั้น มีจำนวน 223,013 ชิ้น คิดเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 652%
เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดของแต่ละปี ยังพบว่าระหว่างปี ปี 2553 – 2558 ไม่พบขยะ กล่องอาหารพลาสติกที่เก็บได้ในทะเลแม้แต่ชิ้นเดียว!
ขณะที่ขยะประเภทถ้วย-จานพลาสติก มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน เพราะเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งปี ขยับจากอันดับที่ 16 ในปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 9 ในปี 2559
ส่งผลรวมทำให้กลุ่มภาชนะพลาสติกยังคงเป็นอันดับที่ 9 ในปี 2560 และตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ขยะพลาสติกประเภทถ้วย จาน และกล่องอาหาร ก็ทวีจำนวนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งแตะตัวเลขสูงสุดที่หลัก 2 แสนชิ้นต่อปี
ถามว่าอะไร คือ ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดขยะในทะเลไทย? กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า 80% มาจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง ท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และสัดส่วน 20% นั้นมาจากการขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล
ที่ผ่านมา จากแนวทางการแก้ปัญหา การติดตั้งทุ่นกักขยะตามปากแม่น้ำและลำคลองสายหลัก ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จำนวนขยะที่ลอยมาตามแม่น้ำลำคลอง มีแนวโน้มในปริมาณมากขึ้น และ “ขยะพลาสติก” คือ ประเภทขยะที่พบมากเป็นอันดับ 1
จากการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ให้คนหันมาใช้ “ถุงผ้า” แทน “ถุงพลาสติก” พร้อมมาตรการให้ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ งดจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มการตอบรับที่ดี เพราะข้อมูลจำนวนขยะถุงพลาสติก ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2563 – 2564 ถึง 81% ลดลงเหลือเพียง 8% ในปี 2565
อีกทั้งโครงการรณรงค์ให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหาร หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องลดการใช้ “พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic)” และการสร้างการรับรู้ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แยกขยะ และทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง
แต่แนวโน้มที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้น เป็นขยะพลาสติก ที่เกิดขึ้นมาจากการบริโภคของคนไทย ในยุคที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ ทำให้ “ขวดเครื่องดื่มพลาสติก” และ”ถ้วย-จานและกล่องอาหารพลาสติก” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ต้องติดตาม คือ เราจะทำอย่างไร เพื่อหยุดสร้างขยะพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภท “พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic)” ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามพฤติกรรมการบริโภคอาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง (Chilled and Frozen Ready-to-eat Food) ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในปัจจุบัน และเป็นสาเหตุใหญ่ ที่ก่อให้เกิดขยะอย่างมหาศาล สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมตามมาในระยะยาว เพราะการย่อยสลายของขยะพลาสติก กินเวลายาวนานนับร้อยปี