fbpx
News update

วิศวะมหิดล…รายแรกวิศวศึกษาของไทย คว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ TQC ประจำปี 2565

Onlinenewstime.com : ในงานประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 เมื่อเร็วๆนี้ จัดโดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบรางวัลแก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี รับมอบ “รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ” (Thailand Quality Class: TQC) ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นับเป็นรางวัลที่แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมด้านสมรรถนะ และมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ทัดเทียมระดับสากล โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดี

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรายแรกที่ได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) ในครั้งนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก (World Class) และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

แสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ทัดเทียมกับระดับมาตรฐานโลก โดยใช้พื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ที่เป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกระดับขีดความสามารถภาคการศึกษาไทยก้าวสู่ระดับโลก เหตุผลที่ได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) มาจากการประเมินพิจารณา 7 ด้าน ได้แก่ 1. การนำองค์กร (Leadership) 2. กลยุทธ์ (Strategy) 3. ลูกค้า (Customers)  4. การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) 5. บุคลากร (Workforce) 6. การปฏิบัติการ (Operations) 7. ผลลัพธ์ (Results)

ในด้านความสำคัญในการขับเคลื่อน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศนั้น ถือเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารองค์กรของเรา ควบคู่กับการยกระดับทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องบริบทโลกและตอบโจทย์กับตลาดแรงงานวันนี้และอนาคต

นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพบุคลากรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ จากความมุ่งมั่นของการทำงานเป็นทีม ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และทีมงาน ต่างผนึกกำลังขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย World-Class Engineering 

โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะก้าวเป็น World-Class University เพื่อร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของการศึกษาไทยสู่ระดับโลก ด้วยความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้านี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยสร้างเกียรติประวัติเป็นรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานโลกใน 6 หลักสูตร จากคณะกรรมการ ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างเสริมโอกาสให้วิศวกรไทยสามารถไปศึกษาต่อ หรือทำงานได้ทั่วโลก

error: Content is protected !!