Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนาหัวข้อ ‘การประเมิน Carbon Footprint สำหรับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์’ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนก้าวไปสู่ Green Logistics เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สังคมโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขนส่ง คลังสินค้า และการกระจายสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน
การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งทางถนน ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลัก ซึ่งรถบรรทุกขนส่งเพียงหนึ่งคันสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อระยะทาง 1,000 กิโลเมตร
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว หลายองค์กรเริ่มนำแนวทางโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ปรับเส้นทางขนส่งให้มีประสิทธิภาพ การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในคลังสินค้า รวมถึงการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดต้นทุนระยะยาวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ ‘การประเมิน Carbon Footprint สำหรับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์’ เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใส่ใจและตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวไปสู่การเป็น Green Logisticsเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน
โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจโลจิสติกส์ วิธีการคำนวณCarbon Footprint สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ เครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณกลยุทธ์และแนวทางการลด Carbon Footprint
การเตรียมตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริหารจัดการและการรายงาน Carbon Footprint สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะ ซึ่งกรมฯ ได้เชิญว่าที่พันตรีบุญฤทธิ์ ดุษฎี ที่ปรึกษาอาวุโส จาก บริษัท โพรแอ็ค เน็ตเวิร์ค จำกัด มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ตลอดการสัมมนาฯ
หลังจากการสัมมนาฯ ครั้งนี้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ต่างได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับCarbon Footprint อย่างถ่องแท้ สามารถเตรียมตัวให้พร้อมก่อนก้าวไปสู่การเป็น Green Logistics ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป อธิบดีอรมน กล่าวในตอนท้าย