fbpx
News update

5 มาตรฐานใหม่ ผู้ประกอบการก่อสร้างและอสังหาฯ

onlinenewstime.com : ธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยและอาเซียน กำลังขับเคลื่อน ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) มีภารกิจหลัก ในการพัฒนาวิชาชีพและมาตรฐาน ของงานวิศวกรรมทุกด้านของประเทศ เป็นมาตรฐานเดียวกันตามหลักสากล เพื่อให้งานออกแบบ ติดตั้ง หรือการใช้งานวิศวกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ มีความถูกต้องแม่นยำ

ตลอดจนช่วยให้วิศวกร ผู้ประกอบการ ธุรกิจ ผู้รับเหมา ช่างเทคนิค ได้มีหลักปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วทั้งประเทศ ทั้งยังมุ่งพัฒนาปรับมาตรฐานต่างๆ ให้ก้าวทันและสอดคล้อง กับแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย

ดร.ธเนศ วีระศิริ
นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า จากการเกิดอุบัติเหตุ ในไซต์ก่อสร้างและในที่สาธารณะ ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย และเริ่มมีข่าวในประเทศ เพื่อนบ้านอาเซียน CLMV ด้วยเช่น อัคคีภัย, เครนถล่ม, ตึกถล่ม และอื่นๆ ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงต้องการสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการ และผู้ดำเนินงานตามไซต์ก่อสร้าง ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัย

ทาง วสท. ได้ดำเนินการประกาศใช้ มาตรฐานทางวิศวกรรม 5 มาตรฐาน ในการเสริมสร้างคุณภาพของโครงการ และคุณค่าของแบรนด์ ด้วยหลักการปฏิบัติที่ดีในทุกระดับ การบริหารจัดการโครงการและความปลอดภัย ทั้งในระยะก่อน-ระหว่าง-และหลังการก่อสร้าง  การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำหรับการก่อสร้างและอาคารที่เหมาะสม การลดปัจจัยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและไฟไหม้ เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังค มของประเทศอย่างยั่งยืนควบคู่กับความปลอดภัย ได้แก่

1. มาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เล่ม 1 : ความปลอดภัยในเรื่องการจัดการทั่วไป ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย ข้อแนะนำสำหรับสถานประกอบการก่อสร้างขนาดเล็ก หรือสถานประกอบการทั่วไป ได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยโครงการก่อสร้างที่ดี ต้องมีแผนการจัดการความปลอดภัยในเรื่องต่างๆ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนระบบการจัดการความปลอดภัย, การเคลื่อนย้ายวัสดุ และการเก็บวัสดุในสถานที่ก่อสร้าง, งานจัดการสภาพแวดล้อมและสุขาภิบาล, งานเฝ้าระวัง และจัดการเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ ต่อผู้ปฏิบัติงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง สาธารณชน และสถานที่ข้างเคียง

2. มาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เล่ม 2 : ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักร เป็นมาตรฐานที่เน้นสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อให้เกิดปลอดภัย ในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรขณะปฏิบัติงาน โดยเนื้อหาประกอบด้วย นั่งร้าน, บันได, ราวกันตก ขอบกันของตก และทางเดินชั่วคราวยกระดับ, แผงป้องกันวัสดุตก และป้องกันฝุ่น, ลิฟต์ขนส่งวัสดุ และลิฟต์โดยสารชั่วคราว สำหรับผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงานก่อสร้าง และการใช้งานเครนหรือปั้นจั่น

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้งานดังกล่าว จำเป็นต้องคำนึงหลักทางวิศวกรรม ตามลักษณะสภาพหน้างาน ที่อาจมีความแตกต่างจากข้อกำหนด ที่กล่าวไว้ในมาตรฐาน และอยู่ในความดูแลกำกับของวิศวกร ทั้งนี้หน่วยการวัดต่างๆ ที่ปรากฏในมาตรฐานเล่มนี้ อาจมีการใช้หลายระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน และการสื่อสาร ระหว่างผู้ปฏิบัติที่หน้างานได้ตรงกัน

 3. มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน มาตรฐานนี้ เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้อาคาร ได้จัดทำขึ้น ให้สอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อกำหนดเครื่องมือให้แสงสว่าง และนำทางผู้ประสบภัยไปสู่สถานที่ปลอดภัย ขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งระบุถึงพื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินนับเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อใช้เป็นข้อกำหนด ในการออกแบบ ติดตั้ง และตรวจสอบระบบแสงสว่างฉุกเฉิน สำหรับอาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม โรงพยาบาล สถานบริการ โรงมหรสพ และอาคารสาธารณะทั่วไป

โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน อาทิ การเตรียมการและจดบันทึก, การให้แสงสว่างฉุกเฉิน, การส่องสว่างเพื่อการหนีภัย, แบตเตอรี่ และระบบการเดินสาย และข้อกำหนดของวงจร 2. โคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน อาทิ ข้อกำหนดต่าง ๆ, สภาวะทั่วไปสำหรับการทดสอบ, การติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน และระยะห่าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ระบบนำทางติดตั้งต่ำแบบไม่ใช้ไฟฟ้า (Non – Electrical Low Mounted Way Guidance System) เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความรวดเร็วในการหนีภัยได้มากยิ่งขึ้น

 4. มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นมาตรฐานทางด้านการออกแบบ การติดตั้ง และการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ สำหรับใช้เตือนอัคคีภัยกับอาคารทั่วไป ประกอบด้วย วิธีการกำหนดโซน การแบ่งโซน เพื่อค้นหาจุดต้นเพลิงได้โดยรวดเร็ว และสามารถหนีไฟได้ทัน การแบ่งประเภทของอาคาร เพื่อกำหนดส่วนประกอบขั้นพื้นฐาน ของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารพึงมี อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง และการกำหนดใช้ ที่เหมาะสมกับพื้นที่เฉพาะ

รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ สาย ท่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานถูกต้องเมื่อต้องการใช้งาน ทั้งนี้ ได้ยกเว้นส่วนอาคาร ที่ใช้เพื่อการผลิต การใช้ การเก็บสาร หรือวัสดุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด สารไวไฟ สารเคมี และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งต้องใช้มาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประกอบการออกแบบด้วย

5. มาตรฐานการควบคุมควันไฟ ใช้อ้างอิง สำหรับการออกแบบระบบควบคุมควันไฟ เพื่อให้อาคารประเภทต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ เมื่ออาคารเข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องมีระบบควบคุมควันไฟ ขณะเกิดเพลิงไหม้

โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงระบบควบคุมควันไฟ ในแบบต่าง ๆ ทั้งระบบอัดอากาศ และระบายอากาศ การทำงานของระบบควบคุมควันไฟ กับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ประกอบ และการติดตั้งระบบควบคุมควันไฟ รวมถึงการทดสอบระบบควบคุมควันไฟ และการปิดช่องท่อเพื่อป้องกันไฟลาม โดยมีภาคผนวกทฤษฎีการควบคุมควันไฟ ที่จะให้ความรู้เพิ่มเติม พร้อมสมการคำนวณ เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของควันไฟ การไหลของอากาศ อัตราการไหลและการอัดอากาศ

ทั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ คาดว่ามาตรฐาน และการปรับปรุงมาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ของไทย พร้อมทั้งยกระดับงานวิศวกรรมความปลอดภัย จากการเกิดเพลิงไหม้ และพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมและแรงงานของประเทศ รวมทั้งทำให้ประเทศไทย เป็นต้นแบบการกำหนดมาตรฐานที่ดี ของภูมิภาคอาเซียน ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสากล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค ให้ดีขึ้นต่อไป

โฮมเพจ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

error: Content is protected !!