fbpx
News update

10 อันดับ “ผลไม้ไทย” ในตลาดส่งออก ปี 2560 – 2564

Onlinenewstime.com : ข้อมูลการส่งออก “ผลไม้ไทย” (ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้แห้ง) ไปยังตลาดต่างประเทศ แสดงให้เห็นคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก คือ ประเทศจีน ที่ครองสัดส่วนถึง 83.61% ตามมาด้วย ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้สร้างสถิติใหม่ มีอัตราการขยายตัวถึง 189% เรียกได้ว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ด้วยตัวเลขมูลค่าการส่งออก 195,637 ล้านบาท และปริมาณการส่งออกที่ 2.85 ล้านตัน “ลำไย- สัปปะรด -น้ำผลไม้” ติดท็อปทรีของการส่งออกในช่วง 4 ปีหลัง

ขณะเดียวกัน “ทุเรียน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาผลไม้ ซึ่งติดอันดับ 2 ของยอดส่งออกสูงสุดในปี 2560 แต่หลังจากนั้นยอดการส่งออกลดลง ทว่าก็สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาต่อกิโลกรัมที่เพิ่มขึ้น จากราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมละ 49 บาทขยับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 198 บาท

สำหรับประเภทของผลไม้ ติดอันดับส่งออก 10 อันดับแรก จากข้อมูลของ”สำนักงานสถิติการส่งออก” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 ถึงข้อมูลล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า มีอัตราการขยายตัว ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ส่งออกผลไม้ไทยในเชิง “ปริมาณ” ย้อนหลัง 5 ปี

เริ่มจากปี 2560 มีตัวเลขการส่งออก จำนวน 2.68 ล้านตัน โดยมี 10 อันดับ คือ ลำไย สัปปะรด ทุเรียน น้ำผลไม้ มังคุด ผลไม้ปรุงแต่ง มะพร้าว ผลไม้สด+แช่แข็ง มะม่วง และผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาลตามลำดับ

ถัดมาในปี 2561 มีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ 1.76 ล้านตัน โดย 10 อันดับแรก ได้แก่ ลำไย สัปปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง มะม่วง ผลไม้สด+แช่แข็ง มะพร้าว ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล กล้วย และส้ม

อย่างไรก็ตามในปี 2562 ปริมาณการส่งออก พลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.76 ล้านตัน โดย 10 อันดับ คือ ลำไย สัปปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้สด+แช่แข็ง ผลไม้ปรุงแต่ง มะม่วง มะพร้าว ผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่นๆ ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล และส้ม

ต่อมาในปี 2563 ที่เริ่มมีผลกระทบของโควิด-19 เราก็ยังมีปริมาณการส่งออกผลไม้สูงถึง 2.41 ล้านตัน โดยมี 10 อันดับแรก คือ ลำไย น้ำผลไม้ สัปปะรด ผลไม้ปรุงแต่ง มะม่วง มะพร้าว ผลไม้สด+แช่แข็ง ส้ม ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่นๆ

ที่สำคัญคือตัวเลขในปี 2564 ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ข้อมูลถึงเดือน พ.ย. ก็แสดงให้เห็นถึงการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปีคือมีปริมาณส่งออกที่ 2.85 ล้านตัน 10 อันดับแรกประกอบด้วย คือ ลำไย สัปปะรด น้ำผลไม้ มะม่วง ผลไม้ปรุงแต่ง มะพร้าว ผลไม้สด+แช่แข็ง ทุเรียน ส้ม และผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล

ส่งออกผลไม้ไทยในเชิง “มูลค่า” ย้อนหลัง 5 ปี

สอดคล้องกับในเชิงมูลค่าการส่งออกที่มีนัยสำคัญคือ

ในปี 2560 มูลค่าการส่งออกผลไม้รวมอยู่ที่ 1.03 แสนล้านบาท ประกอบด้วยผลไม้ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก คือ ลำไย สับปะรด ทุเรียน น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง มังคุด ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่น ๆ มะม่วง และมะพร้าว

ในขณะที่ปี 2561 มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 6.4 หมื่นล้านบาท กับ 10 อันดับ คือ ลำไย สับปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง ทุเรียน ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล มะม่วง ผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่น ๆ ผลไม้สด+แช่แข็ง และมะพร้าว

อย่างไรก็ตามในปี 2562 มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยขยับสูงขึ้นเป็น 1.25 แสนล้านบาท โดยมี 10 อันดับ ลำไย สับปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง ทุเรียน ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่น ๆ มะม่วง ผลไม้สด+แช่แข็ง และมะพร้าว

และในปี 2563 มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงถึง 1.41 แสนล้านบาท กับ 10 อันดับ ได้แก่ ลำไย สับปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง ทุเรียน ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล มะม่วง ผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่น ๆ ผลไม้สด+แช่แข็ง และมะพร้าว

และมูลค่าการส่งออกของปี 2564 ข้อมูลถึงเดือนพ.ย. ทะลุเป็น 1.95 แสนล้านบาท กับตัวเลข 10 อันดับแรก คือ ลำไย สับปะรด น้ำผลไม้ ผลไม้ปรุงแต่ง ทุเรียน มะม่วง ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล ผลไม้สด+แช่แข็ง มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ลูกนัตอื่น ๆ

“ผลไม้ยอดนิยม” ของตลาดส่งออก

ผลไม้ยอดนิยมที่ครองอันดับต้นๆตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้แก่ ลำไย สับปะรด ทุเรียน น้ำผลไม้ มังคุด ผลไม้ปรุงแต่ง มะพร้าว ผลไม้สด+แช่แข็ง มะม่วง ผลไม้แปรรูปด้วยน้ำตาล กล้วย ส้ม และผลิตภัณฑ์ลูกนัต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลำไย และสับปะรด ครองแชมป์ 2 อันดับแรกในการส่งออกมาตลอดระยะเวลา 5 ปี ในขณะที่ผลไม้อื่นๆมีการสลับตำแหน่งกันไปบ้าง

สำหรับ”ทุเรียน” ที่ขึ้นชื่อของไทย และเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในต่างประเทศนั้น มีปริมาณส่งออกสูงสุดในปี 2560 ที่ 5.05 แสนตัน แต่ต่อมาปริมาณการส่งออกกลับลดลง จนไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ตั้งแต่ปี 2561 – 2563

จนมามีสัญญาณของการตีตื้นในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขปริมาณการส่งออกถึงเดือน พ.ย. 2564 ติดอันดับที่ 8 ของผลไม้ส่งออกของไทย

แต่ถ้ามามองในเชิงมูลค่า จะพบว่าทุเรียนมีมูลค่าการส่งออก ติดอันดับที่สูงต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี โดยมีมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 / 5.9 พันล้านบาทในปี 2561 / 5.7 พันล้านบาท ปี 2562 / 6.9 พันล้านบาท ในปี 2563 และ 9.1 พันล้านบาทในปี 2564 (ข้อมูลถึงเดือน พ.ย.)

เรียกได้ว่าติดอันดับผลไม้ที่สร้างรายได้กลับเข้าประเทศเพิ่มขึ้น โดยเมื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบพบว่าราคาต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมละ 49 บาทในปี 2560 ขยับราคาขึ้นมาถึงกิโลกรัมละ 198 บาทในปี 2564 เช่นเดียวกับภาพรวมการส่งออกผลไม้ไทย ที่มีแนวโน้มดี ทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และนำเงินเข้าประเทศในแต่ละปีไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท

error: Content is protected !!