fbpx
News update

เดินหน้ายกระดับมาตรฐานอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว รองรับภัยพิบัติและเศรษฐกิจยั่งยืน

onlinenewstime.com : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม  ร่วมกับ สกสว.และกรมโยธาธิการและผังเมือง เดินหน้า “กฎกระทรวง และมาตรฐาน มยผ.1301/1302-61 การออกแบบอาคาร ต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับใหม่”

จากเดิมมาตรฐานการออกแบบอาคาร ต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1302-52 ได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2552 และมยผ.1301-54 ภายหลังการประกาศใช้ ปรากฏว่า มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้ง ดังเช่นแผ่นดินไหวที่แม่ลาว เชียงราย มีความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทีมนักวิจัย วสท. ได้ปรับปรุง มาเป็นมาตรฐานฉบับใหม่ล่าสุด คือ มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1301/1302-61 สร้างเสริมนวัตกรรมการออกแบบอาคารในประเทศไทย ให้มีความแข็งแรงสามารถรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดร. ทยากร จันทรางศุ วิศวกรชำนาญการ กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขกฎกระทรวง และ มยผ.ฉบับใหม่ ว่าด้วยการเพิ่มเติมบทนิยาม “บริเวณเฝ้าระวัง” หมายถึงบริเวณ หรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่า แผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบในระดับปานกลาง และระดับสูง ในด้านโครงสร้างอาคาร จังหวัดใดที่ควรควบคุม พื้นที่ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ควรควบคุมทันทีหลังจากประสบภัย และการบังคับใช้หลังประกาศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เป็นต้น

โดยข้อพิจารณาในการออกแบบโครงสร้าง เน้นเรื่องการจัดรูปทรง และผังอาคารให้มีเสถียรภาพ ในการต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตลอดจนการกำหนดรายละเอียดชิ้นส่วน และรอยต่อระหว่างชิ้นส่วน รวมทั้งจัดให้โครงสร้างทั้งระบบ อย่างน้อยมีความเหนียวเทียบเท่ากับความเหนียวจำกัด ตามมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคาร เพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคาร ต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ได้รับการรับรอง

รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม ประธานคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า โครงการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ มยผ. 1301/1302-61 นี้ ด้วยทุนวิจัยสนับสนุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีสาระสำคัญ ตามมาตรฐานใหม่ คือ ปรับค่าระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว ในรูปของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมทั่วประเทศ, ค่าความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่พิจารณาแอ่งดินลึก, ข้อกำหนดในการใช้โครงสร้างแบบความเหนียวจำกัด, ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผนังอิฐก่อ, การออกแบบฐานราก, การให้รายละเอียดเหล็กเสริม, วิธีการออกแบบโครงสร้าง ด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนองและการปรับปรุงด้านอื่นๆ

โดยได้ปรับแก้ไขค่าระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวในรูปแบบของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม ในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีความถูกต้องแม่นยำ และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แสดงอยู่ในรูปของ “ความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม” ซึ่งเป็นค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหว ต่อโครงสร้างในแต่ละพื้นที่ และมีค่าแปรเปลี่ยนไปตามคุณลักษณะของอาคาร

ซึ่งช่วยให้วิศวกรและผู้รับเหมาก่อสร้าง สามารถนำค่าตัวเลขเหล่านี้ ไปใช้ออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง และต้องมี  “ความเหนียว” โดยสามารถโยกไหวตัว เกินพิกัดยืดหยุ่นของโครงสร้าง และสลายพลังงานของการสั่นไหว ในระดับที่เหมาะสม และอาคารไม่พังถล่มลงมา

ในภัยพิบัติแผ่นดินไหว คนส่วนใหญ่บาดเจ็บเสียชีวิต จากการถูกหลังคาและผนังทับ มาตรฐาน มยผ.ใหม่นี้ มีการเพิ่มเติม เช่น ผลจากผนังอิฐก่อ ที่เป็นบทเรียนจากแผ่นดินไหวที่ จังหวัดเชียงรายเมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 มีการเพิ่มเติม ข้อแนะนำ การออกแบบกำแพงโครงสร้างคอนกรีต และการออกแบบองค์อาคาร ที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เป็นต้น

ศ. ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท.กล่าวว่า แต่ละอาคารมี ค่าต้านทานแผ่นดินไหว ต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ประเภท ความสำคัญของอาคารที่มีต่อสาธารณชน และการบรรเทาภัยหลังเกิดเหตุ

นอกจากนี้มาตรฐาน มยผ. 1301/1302-61 ยังสามารถใช้ค่าระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ในการออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหว ในรูปแบบสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคอื่นๆด้วย เช่น การออกแบบโครงสร้างสะพาน เขื่อน โครงสร้างชลประทาน ถังน้ำ เสาส่งสัญญาณไฟฟ้า เสาส่งสัญญาณวิทยุ ป้ายโฆษณา โครงสร้างที่อยู่ใต้ดิน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และโครงสร้างอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นลักษณะอาคาร  นับเป็นการพัฒนาอาคาร และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ให้สอดคล้องรองรับปัญหาสภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น

 ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์  คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วสท.กล่าวว่าคงจำกันได้ว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 มีศูนย์กลางที่เมืองพุกามในพม่า ปี 2016 คนกรุงเทพฯ บนตึกซึ่งอยู่ห่างกว่า 1,000 กิโลเมตร รู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหว โคมไฟแกว่ง เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีลักษณะพิเศษคือ แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นใต้กรุงเทพ แต่ได้รับแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวที่อยู่ไกลออกไป อาจจะมาจากพม่า หรือทะเล 

กรุงเทพฯตั้งอยู่ในแอ่งลึก 800 เมตร สภาพชั้นบนเป็นดินอ่อน ซึ่งสามารถจะขยายแรงแผ่นดินไหว ที่ได้รับมากยิ่งขึ้น  ระยะเวลาการสั่นก็จะยาวขึ้น 

ตัวอย่าง ในการวิจัย ผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้น เรานำเอาคลื่นแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นจริง มาทดสอบจำลองกับพื้นที่กรุงเทพ พบว่าอาคารเตี้ย จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ถึง 7.5 จากกาญจนบุรี ส่วนอาคารสูง จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขนาด 8.5+ จากแนวมุดตัวแผ่นเปลือกโลก ( Subduction Zone) ในพม่า เป็นต้น

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้สรุปผลดีและประโยชน์ของมาตรฐาน มยผ.1301/1302-61  ฉบับใหม่นี้ คือ ใช้ได้กับอาคารทุกประเภทได้ทั่วประเทศ โดยวิศวกร ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการคำนวณ และออกแบบก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรมสากล

ทั้งนี้เจ้าของอาคารและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังสามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์ ในการตรวจสอบการออกแบบ ว่าถูกต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลหรือไม่

วสท. จะมุ่งเผยแพร่และจัดอบรมองค์ความรู้นี้ อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน พัฒนาเมืองที่คงทนยืดหยุ่น ควบคู่กับเพิ่มคุณค่างานวิศวกรรมที่ยั่งยืน และความน่าเชื่อถือให้กับวิศวกรไทย สามารถทำงานที่ท้าทาย ในระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน  

โฮมเพจ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

error: Content is protected !!