fbpx
News update

สัญญาณเตือนภัย … รอยดำ ที่ไม่ใช่ฝ้า

onlinenewstime.com : ผศ.นพ.กัมพล เอี่ยมพนากิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลายๆ ครั้ง ที่เราค้นพบรอยดำบริเวณผิวหนัง ซึ่งบางคนอาจไม่สนใจ แต่บางคนจะรู้สึกว่าทำให้เสียบุคลิก เกิดความไม่มั่นใจ

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงขอไขข้อสงสัย ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า รอยดำที่ผิวหนัง เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ และสร้างความกังวลสำหรับผู้ที่เป็น รวมไปถึงเป็นจุดสนใจสำหรับคนรอบข้าง

สำหรับรอยดำที่พบบ่อย คือรอยดำที่เกิดภายหลังการอักเสบ หรือเรียกว่า post-inflammatory hyperpigmentation โดยเกิดตามหลัง โรคผิวหนังอักเสบชนิดต่าง ๆ ซึ่งภาวะรอยดำภายหลังการอักเสบ เป็นภาวะที่ไม่อันตราย และสามารถจางหายได้เอง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน จนถึงปี

อย่างไรก็ตาม มีรอยดำภายหลังจากอักเสบบางชนิด หรือ โรคที่มีรอยดำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตเช่นกัน ได้แก่ มะเร็งผิวหนัง และ โรคกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง

มะเร็งผิวหนัง

มี 2 ชนิดใหญ่ ได้แก่ (1) มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา ประกอบด้วย มะเร็งเบซัลเซลล์ และมะเร็งสความัสเซลล์ และ (2) มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

ชนิดที่ 1 คือ มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา พบบ่อยมากกว่า และเกิดบริเวณผิวหนังที่มีการสัมผัสแสงแดดมาเป็นเวลานาน เช่น ที่ใบหน้า ลักษณะของ มะเร็งเบซัลเซลล์ มักพบเป็นสีดำ ขอบยกนูน โตช้า สำหรับ มะเร็งสความัสเซลล์ จะพบเป็นผื่นแดง ขอบเขตชัด บางรายมีรอยดำร่วมด้วย และมักเกิดแผลได้บ่อย

สำหรับชนิดที่ 2 คือ มะเร็งผิวหนังชนิด เมลาโนมา เป็นชนิดที่พบได้น้อย ในประเทศไทย แต่ความสำคัญคือเป็นมะเร็งผิวหนัง ที่มีความรุนแรงมากที่สุด พบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ได้เร็ว

มะเร็งเมลาโนมา มักเกิดจากไฝ ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ผิวหนัง ที่พบได้บ่อย และทุกบริเวณในร่างกาย โดยลักษณะที่บ่งชี้ว่า ไฝมีการกลายเป็นมะเร็งเมลาโนมา ได้แก่ รูปร่างไม่สมมาตร ขอบไม่เรียบสม่ำเสมอ มีหลายสี ทั้งสีดำเข้มและจาง ขนาดมากกว่า 6 มิลลิเมตร และโตเร็ว

โรคกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง

เกิดจากภาวะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกาย สร้างมากขึ้นผิดปกติ ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงผิวหนัง โดยโรคที่มีภาวะผิวหนังเป็นรอยดำ ได้แก่ โรคหนังแข็ง และ โรคแพ้ภูมิตนเองเอสแอลอี หรือโรคลูปัส

โรคหนังแข็ง จะพบอาการบวมตึง ที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้าและใบหน้า การเปลี่ยนแปลงสีผิว ทั้งรอยขาว และรอยดำ ซึ่งอาจพบลักษณะรอยดำคล้ำ ทั่วทั้งร่างกายได้ และอาการร่วมในระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบหายใจ พบอาการเหนื่อยง่าย ระบบทางเดินอาหาร อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด เป็นต้น

โรคแพ้ภูมิตนเองเอสแอลอี หรือโรคลูปัส พบผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยเฉพาะผิวหนัง บริเวณที่สัมผัสแสงแดด และพบรอยดำได้ที่ บริเวณใบหู และหนังศีรษะ อาจพบอาการผมร่วง และแผลในปาก

รวมทั้งอาการร่วม ในระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบเลือด พบอาการซีด เพลีย เลือดออกง่าย ระบบไต พบปัสสาวะเป็นฟอง ปริมาณลดลง หรือปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ และอาการปวดข้อ เป็นต้น

ดังนั้นถ้ามีรอยดำที่ผิดปกติ โดยเฉพาะ ที่มีลักษณะตามที่กล่าวข้างต้น หรือมีอาการร่วมในระบบต่างๆ ของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง เพื่อได้รับการวินิจฉัยให้ทันท่วงที และให้การรักษาอย่างเหมาะสม

โรคบางอย่างสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งเบซัลเซลล์ มะเร็งสความัสเซลล์ เป็นต้น แต่ในบางภาวะ โดยเฉพาะโรคกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง สามารถรักษาโดยควบคุมอาการของโรค และช่วยให้รอยโรคผิวหนังดีขึ้นได้

หากเกิดปัญหากับตนเองหรือคนใกล้ชิด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ หรือ เฟสบุค

error: Content is protected !!