fbpx
News update

หนุน“เฮลท์เทคไทย”สู่เวทีโลก

www.onlinenewstime.com : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนาม MOA ความร่วมมือผนึกกำลังขับเคลื่อนแผนแม่บทอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมแผนพัฒนา โครงการ ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ (Salaya Startup Town) ให้เป็นเมืองแห่งสตาร์ทอัพเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ รองรับอนาคตและคมนาคม สานพลังขับเคลื่อนสู่เมดิคัลฮับ (Medical Hub) และไทยแลนด์ 4.0  ในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ “ ผนึกพลัง Salaya Startup Town – EECi หนุนเฮลท์เทคไทยสู่เวทีโลก”

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi)  กล่าวว่า EECi เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ บนพื้นที่ 3,455 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน EEC และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (New S-Curve)   และพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมให้ก้าวไกล เพื่อนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.0

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพกว้างไกล

มูลค่าHealth Tech ในตลาดโลก ปี 2020 คาดว่าจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกและนำเข้า ปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท ตลอดจน ธุรกิจ HealthCare ในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา

ดังนั้น สวทช. จึงได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนแม่บท EECi ด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มีศักยภาพความเชี่ยวชาญและความพร้อมที่จะเป็น Lead Partner ผู้นำหลักเสริมทัพความแข็งแกร่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน Health Tech และ HealthCare ประเทศไทยให้เติบโตและยั่งยืน ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคนและสตาร์ทอัพในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ การวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสู่การเป็น World-Class University ส่งเสริมการศึกษายุคใหม่ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมบุคคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์-สุขภาพ สู่สังคมฐานนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ องค์กรและเครือข่ายอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด การลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) โดย EECi กับมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ

ซึ่งมีเป้าหมายที่จะก้าวเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขอบเขตข้อตกลงการดำเนินงานทั้งสองฝ่าย จะจัดทำโรดแมพแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ของ EECi ระยะ 10 ปี ที่ครอบคลุมรูปแบบการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งของ EECi และที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการเชื่อมโยงผู้ผลิตนวัตกรรมและผู้ใช้นวัตกรรมทั้งในและข้ามห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จากภายในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมเชื่อมต่อและสร้างกลไกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์

ตลอดจนขยายผลต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมี 17 คณะ 6 วิทยาลัย 8 สถาบัน 5 โรงพยาบาล 2 โรงพยาบาลทันตกรรม และ 2 โรงพยาบาลสัตว์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำทันสมัยของคณะต่างๆ พร้อมด้วยโครงการ ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ (Salaya Startup Town) เมืองแห่งสตาร์ทอัพเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ ที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าคมนาคมทันสมัยในอนาคต

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 ก.ม. ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2565  รองรับการเจริญเติบโตของเมือง

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์

รวมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางและแนวทางการส่งเสริมการเดินทางเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกวัย รูปแบบสถานีมี 3 แพลทฟอร์ม ในวงเงินลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ใช้สถานีวันละ 35,000 คน

ในด้านศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ (Salaya Startup Town) เมืองสตาร์ทอัพแห่งเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ ในมหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมโยงกับ EECi ประกอบด้วยระบบนิเวศเพื่อนวัตกรรมและบริการแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์และธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่  

1.Innogineer Studio เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ครบครันเครื่องมือไฮเทคสำหรับเอสเอ็มอีและเมคเกอร์สามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์

2. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก

3. Innovation Service Center ศูนย์บริการนวัตกรรมและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจอุตสาหกรรม กำหนดเปิดในเดือน กันยายน 2562  

4.ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงวัยและ Smart Home

5. ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่ชำนาญด้านต่าง ๆ ของม.มหิดล

6. ศูนย์ LogHealth วิจัยและออกแบบพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาล และจัดทำแผนแม่บทระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภาคสาธารณสุขของประเทศ (HealthCare Logistics Big Data) อีกด้วย

7.ศูนย์ทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ กำหนดเปิดปลายปี 2562 

8.UNTIL Thailand ศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมโดยสหประชาชาติ จะเปิดเป็นแห่งที่ 5 ของโลก ในปลายปี 2562

9.ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง มูลค่าลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเฟสสองในปี 2564

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ 

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวโน้มการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ก้าวไปอย่างรวดเร็ว

AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการใช้งานด้านการตรวจสุขภาพและบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ

รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นสมอง สตาร์ทอัพในหลายประเทศต่างคิดค้นนวัตกรรมสุขภาพไร้สาย (Wireless Health) และอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Health)

ในยุคที่การสื่อสาร 5G ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยประสิทธิภาพใหม่ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการแพทย์กับโลกอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น IoMT (Internet of Medical Things) ที่เห็นได้ชัดคือ อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

error: Content is protected !!