
- เพื่อกำจัดหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย
- รัฐเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ทางการเงินให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไปให้ความรู้ด้านเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
- สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กระทรวงการคลัง ระบุ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยั่งยืน ต้องลดความเหลือมล้ำและเพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินให้ประชาชน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายในงาน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ว่าการจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาครัฐในการขจัดหนี้นอกระบบให้หมดไป เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก
กระทรวงการคลังได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เป็นการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจรและต่อเนื่อง
การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยได้มีพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อกำจัดเจ้าหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย/การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป
โดยสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์
การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยภาครัฐได้จัดให้การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด
การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ทางการเงินให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายในอนาคต
ธนาคารรัฐเริ่มปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่
ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของ ธ.ก.ส.เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวที่มีปัญหาหนี้สินนอกระบบให้เข้ามาในระบบ
ทั้งนี้จนถึงปัจจุบัน สามารถจ่ายเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งสิ้น 377,252 ราย วงเงิน 36,619.20 ล้านบาท โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและบุคคลในครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินในสินเชื่อปกติได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เป็นต้น
ส่วนเงื่อนไขต่างๆในการขอสินเชื่อดังกล่าวนั้น นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า
กรณีที่ใช้บุคคลค้ำประกันคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน
กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับบุคคลค้ำประกันคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75
และกรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มวงเงินดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อเดือน
ทั้งนี้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส และราย 6 เดือน หรือรายปี ตามตวามสามารถในการชำระหนี้ แต่จะต้องชำระคืนภายใน 5 ปี
คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 100,000 ราย โดยเริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน ด้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดสินเชื่อเพื่อสังคม ดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินรวม 36,000 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่รองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรทางการศึกษา และผู้สูงอายุ ซึ่งมีดังนี้
-
โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อข้าราชการครู ปี 2560 ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เป็นของตนเองและ/หรือคู่สมรสจดทะเบียน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-75 ต่อปี หรือร้อยละ 3 ต่อปี
- โครงการบ้าน ธอส. เพื่อข้าราชการ ปี 2560 สำหรับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการศึกษา และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-75 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี/โครงการบ้าน ธอส. เพื่อผู้สูงอายุ ปี 2560 ให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยสามารถกู้ร่วมกับ คู่สมรสจดทะเบียน บุตร หรือหลานได้ ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ โดยอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 เท่ากับ MRR – 3.50 และแบบอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ MRR – 3.00 ต่อปี
-
โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2560 สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้รวมไม่เกินจำนวนที่ธนาคารกำหนด วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 – 2 เท่ากับร้อยละ 2.99
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่าธนาคารได้จัดทำ “สินเชื่อบ้านสำหรับลูกค้ากลุ่ม Social Solution ไตรมาส 1-2 ปี 2560” ประชาชนที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด
เครดิต : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์