fbpx
News update

จริงหรือ? “การทำงานแบบมุ่งมั่น” หามรุ่งหามค่ำ กำลังจะเอ้าท์

onlinenewstime.com : ในยุคนี้ ที่ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นปัญหา และภาวะของโรค ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก กระแสใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมา อาจมีผลทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว และให้เวลากับผู้บริโภคได้อยู่ในโมเม้นท์ที่รีแลกซ์บ้าง

บทความจาก Adweek ของ Ana Andjelic (Strategy executive, writer and doctor of sociology) กล่าวถึงความเชื่อเดิมที่ฝังหัวเรามาตลอดชีวิต เรื่องการทำงานหนักให้ประสบความสำเร็จ กำลังจะเปลี่ยนไปอีกแล้ว เพราะกำลังมีกระแสใหม่ ที่ต่อต้านความทุ่มเท จนว่ากันว่า ค่านิยมการทำงานหนักจะไม่มีอีกต่อไป !

อาจถึงเวลาที่แบรนด์ต่างๆ ต้องออกมาส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และเลิกกระตุ้นเรื่องความทะเยอทะยานเกินขีดจำกัด หรือการต่อสู้ดิ้นรนให้ได้ตามเป้าหมายที่สูงสุด

นักการตลาด และคอลัมนิสต์หลายราย ต่างให้ความเห็นว่า บทบาทของแบรนด์ ต้องมีส่วนช่วยลดภาวะการเหนื่อยล้า การหมดไฟ และถดถอยในการทำงาน ที่กำลังเป็นเรื่องวิกฤตทางสุขภาพในปัจจุบัน

Busy ตลอดเวลา มันเอ้าท์ไปแล้ว

คนที่ชอบพูดว่า งานยุ่ง ไม่มีเวลาว่าง วันนี้ไม่ได้ดูเท่ หรือมีอนาคตไกล 

ในขณะที่แนวโน้มปัจจุบัน มีการพูดถึงประโยชน์ของการ อยู่นิ่งๆ ที่ในอดีตเรามองกันว่า เสียเวลา มีการหยิบยกอันตราย จากสื่อลามกอนาจาร ที่ดีมานด์ขยายตัวมาจากความเครียดของมนุษย์ มีการประเมินผลเสีย ของเศรษฐศาสตร์ที่บิดเบี้ยว จากภาวะกดดันของการทำธุรกิจ และเห็นการเติบโตของกลุ่มต่อต้านคนขยันเกินขีด ยังไม่รวมกระแสใหม่ ที่การโอ้อวดสถานะ แสดงความทะเยอทะยาน เพื่อสร้างความสำคัญของตัวเอง เริ่มกลายเป็น status ล้าสมัย และไม่น่าภูมิใจ

จากอดีตจนปัจจุบัน ในบริบทของการสร้างแบรนด์ การแยกความยุ่งเหยิงทะเยอทะยาน ออกจากความสำเร็จ ดูจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย  แบรนด์ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้น บนตำนานเรื่องความอุตสาหะของผู้ก่อตั้ง  Elon Musk เคยทวิตไว้ว่า “ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ ถ้าเขาทำงานแค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”  แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เขาหลุดคำพูดแปลกๆ ซึ่งหลายคนสันนิษฐานว่า เป็นผลจากการทำงานที่หนักจนเกินไป

คนมุ่งมั่น ทำงานหนัก และทุ่มเท เป็นตำนานแห่งความฝันแบบอเมริกัน นอกจากนี้ ความมุ่งมั่น ยังคงเป็นประสบการณ์หลัก ที่เป็นพันธสัญญาของทุกแบรนด์กีฬา กลุ่มเป้าหมายของสินค้าต่างๆ  ล้วนเป็นผู้บริโภค ที่คาดหวังจะทำสิ่งที่ดีขึ้นจากทุกวันนี้ คนที่คิดว่า ตัวเองยุ่งเกินไปกับภาระส่วนตัว เช่น การทำอาหาร ออกกำลังกาย นอนดูทีวี  ไปพบแพทย์ ไปซื้อของ หรือแม้แต่ไปนวดผ่อนคลาย คนที่ต้องการได้รับบริการเหล่านี้ จากตัวช่วยอื่นๆ

เราถูกหล่อหลอมมาว่า ความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกมีค่าในตัวเอง ต้องเชื่อมโยงกับการมีงานมาก โดยมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ

รวมถึงความเชื่อว่า เราจะล้มเหลวอย่างแน่นอน ถ้าไม่ทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  การสร้างพื้นฐานความคิดแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์ต่างๆ ที่ฝังรากความคิด มาสู่ผู้บริโภค  เพราะเหตุผลที่ว่า การทำงานตลอดเวลา จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ผลร้ายที่ตามมา ก็เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด แฟชั่นที่ฉาบฉวย และโซเชียลมีเดีย การทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน เป็นสิ่งเสพติด และแน่นอนที่สุดว่า  ไม่ดีสำหรับร่างกายและจิตใจ การใช้เวลาหยุดพัก โดยไม่ต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก นอกเหนือไปจากการสร้างความสุขแล้ว ยังทำให้การทำงานมีผลออกมาได้ดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

แนวโน้มที่แบรนด์ต้องช่วยสร้าง

ตำนานเก่าๆของการทำงานหนัก แล้วประสบความสำเร็จ คงต้องจบลงได้เสียที แบรนด์สามารถพลิกบท และเริ่มต่อต้านการดิ้นรน ลดความรู้สึกผิด ที่ผู้คนหยุดพัก ผ่านกลไกการตลาด แบบเดียวกับที่เคยส่งเสริม ความทุ่มเทแบบเกินลิมิต

แบรนด์สามารถเป็นแรงบันดาลใจ  ให้คนทำงานน้อยลง โดยไม่ต้องรู้สึกล้มเหลว และต้องสร้างความสุขของช่วงเวลาว่าง สร้างภาพการทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง ให้เป็นเพียงทางเลือก ที่ไม่น่าพิศมัยอีกต่อไป

เรื่องราวของความสุข และจุดมุ่งหมายในชีวิตที่แท้จริงวันนี้ มาจากการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ปราศจากการเร่งรีบ แต่มีพลังและความลึกลับซ่อนอยู่ภายใน  

การทำงานหนัก และยุ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่นิยามของความทะเยอทะยาน แต่เป็น “อุดมคติ” คนที่ประสบความสำเร็จหลายคน เป็นตำนานที่เยี่ยมยอด โดยที่ไม่ยึดอุดมคตินี้  การรวบรวมไอเดียการตลาด ต้องมาจากการตั้งคำถาม ถึงความจริง และบรรทัดฐานของสังคมและวัฒนธรรม นอกเหนือจากการสร้างเพียงแค่กลยุทธ์

สิ่งที่จะทำให้จับใจ และบรรลุเป้าหมาย  คือการสื่อให้เห็นสิ่งที่คนต้องการอย่างแท้จริงได้ ซึ่งวันนี้ แบรนด์สามารถจับกระแสได้ถึง วิถีต่อต้านการทำงานหนัก และการเกิดขึ้นของ Hashtag ใหม่กึ่งเสียดสีอย่าง  #NotDoingThings

แม้แต่นิยามของคำว่าหรูหรา ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ Luxury เป็นตัวแทนของความปรารถนาสูงสุด

แต่ Modern Luxury ในวันนี้ เป็นเรื่องของ ประสบการณ์เฉพาะ เวลาของความเป็นส่วนตัว การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และการสะสมต้นทุนทางวัฒนธรรม

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความโดดเด่นทางโซเชียล แทนที่ความหรูหราฉาบฉวยในอดีต  ใครจะรู้ว่า  Marie Kondo ในอนาคต แทนที่จะให้เราขอบคุณ และบอกลาเสื้อผ้าที่เกินต้องการ Marie อาจจะสอนให้เรา ขอบคุณภาระงานที่มากเกินไป และเลือกไม่รับงานก็ได้นะ 🙂

Source

error: Content is protected !!