fbpx
News update

การกลั่นแกล้งรังแกในห้องเรียน ส่วนหนึ่งของจุดเริ่มไปสู่ Cyber bully

onlinenewstime.com : “ดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ร่วมเปิดผลวิจัยเรื่อง “การกลั่นแกล้ง”  พบการสร้างเรื่องโกหก ล้อปมด้อย ล้อชื่อพ่อแม่  เป็นจุดเริ่มต้น ของการกลั่นแกล้งออนไลน์  (Cyberbullying)  2 ใน 3 ของการกลั่นแกล้ง เกิดใน “ห้องเรียน” และกลุ่ม LGBT ตกเป็นเหยื่อมากสุด

พร้อมแนะครู และผู้ปกครองอย่ามองข้าม เร่งปรับทัศนคติ การรังแกเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ด้านดีแทค พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet หวังสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล แก่เด็กและคนรอบข้าง ร่วมรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์สากล  21 มิถุนายน 2562

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรังแกกันผ่านไซเบอร์ (Cyberbullying) นับเป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การใช้งานทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้กระทำได้ ในทางตรงข้าม การใช้พื้นที่ของโลกไซเบอร์ต่างกับการรังแกรูปแบบอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถูกกระทำ จึงถูกนำมาใช้เป็นช่องทางใส่ร้าย โจมตี

จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” พบว่า การกลั่นแกล้งทางสังคม มีความสัมพันธ์ที่สูง กับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียน ใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพวกเขา ทำให้การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ จัดเป็นปัญหาใหม่สำหรับประเทศไทย

ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า  “จากงานวิจัยเราพบว่า สำหรับเด็กยุคใหม่ คนที่ถูกรังแก และคนที่รังแกคนอื่น มีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่า มีการเอาคืนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า  การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ มีจุดเริ่มต้น จากการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางวาจา  แล้วก็ไปสู่ทางร่างกาย ไปสู่ทางสังคม

จากทางสังคม จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ การรังแกทางไซเบอร์ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการรังแก มีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนสูงขึ้น และถึงแม้อาจไม่ได้รับความเจ็บปวดทางกาย แต่ ความเจ็บปวดทางใจมีความรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่านออนไลน์ จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น”

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ ที่เกิดการกลั่นแกล้งกัน  ประมาณ 2 ใน 3 เกิดขึ้นในห้องเรียน กล่าวคือ การใช้ความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นมาก ในสถานที่ที่คุ้นเคย และมีโอกาส ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้งกันในสังคมไทย ส่วนใหญ่มาจากเพศชาย ซึ่งความน่าสนใจคือ ลักษณะการแกล้ง มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีแนวโน้มเป็นกลุ่ม และอาจเป็นที่มาของวัฒนธรรม พวกมากลากไป หรือใช้จำนวนที่มากกว่าสร้างความรุนแรง

ซึ่งลักษณะดังกล่าว สามารถเห็นได้ชัดเจนในกลุ่ม LGBT ซึ่งมักเป็นผู้ถูกกระทำ โดยมักถูกกลั่นแกล้ง ทางวาจา  ทางเพศ และทางไซเบอร์ อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้กระทำมักเป็นเพศชาย

ผศ.ดร.ธานี กล่าวเสริมว่า  เทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การแกล้งกัน (Bullying) ของเด็กนักเรียน ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่การแกล้งกัน จะมีลักษณะอำนาจเหนือกว่า หรือมีความได้เปรียบด้านกายภาพ แต่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาสร้างความเท่าเทียมกันของการแสดงออก  ทำให้ความสามารถในการแกล้งกันของทุกคน ใกล้เคียงกันมากขึ้น

“หากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้ง หรือรังแกทางไซเบอร์ อาจต้องเริ่มจากการป้องกันกลั่นแกล้ง หรือรังแกทางสังคมกายภาพจริง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการรังแก  เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กโตขึ้นในอนาคต การใช้กำลัง จะถูกปลูกฝังว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และอาจแปรสภาพไปสู่การข่มขู่ การละเมิดอื่นๆ”  

ขณะเดียวกัน ครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรเป็นที่พึ่งให้กับเด็กที่ถูกกระทำ ความเข้าใจระหว่างครอบครัว ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงตัวตนของตัวเอง และกิจกรรมในโรงเรียน ที่ควรเปิดกว้างมากพอ ให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้เด็กทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่สบายใจ และทำสิ่งที่สนใจเหล่านั้นได้ดี หากแต่ทางออกระยะยาว ถูกสกัดกั้นด้วยความไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ ให้กับคนรอบตัว

ดีแทคเปิดยุทธศาสตร์สร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า  “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ” (Responsible business) ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ของความยั่งยืนดีแทค ซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หรือ dtac Safe Internet ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 4 แล้ว

สำหรับ การวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของดีแทค ในการทำความเข้าใจ ถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น จากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งดีแทคมีเป้าหมาย ในการสร้างระบบนิเวศที่ดี ต่อสังคมอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 90%

และเนื่องในโอกาส วันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล (Stop Cyberbullying day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันที่ 21 มิถุนายน 2562 ดีแทคได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เพื่อให้เด็กและครอบครัว สามารถพัฒนาความรู้ และทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็กๆ ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Parent Zone ผู้ให้บริการด้านความรู้ในการเลี้ยงเด็ก ในยุคดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ

ทั้งนี้ หลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ได้รับการออกแบบให้เหมาะสม กับเด็กอายุ 5-16 ปี ตลอดจนครูและผู้ปกครอง โดยเข้าผ่านเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com ซึ่งประกอบด้วยเกมทดสอบความเข้าใจโลกออนไลน์ คลังคำศัพท์ แบบฝึกหัด และคำแนะนำสำหรับครู ตลอดจนผู้ปกครอง

error: Content is protected !!