Onlinenewstime.com : นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (24 มกราคม 2566) อนุมัติวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,946,434,800 บาท
เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016,000,000 บาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930,434,800 บาท
ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 11 ล้านคน ทั้งนี้ คาดว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 12,539 ล้านบาท
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016 ล้านบาท แนวทางดำเนินการ
(1) การลงทะเบียนใช้สิทธิเข้าโรงแรมที่พักจำนวนห้องพัก 560,000 สิทธิ์/ห้อง รัฐสนับสนุนร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน สูงสุด 5 ห้อง
(2) คูปองอาหาร/ท่องเที่ยว (e-voucher) 600 บาท/วัน
(3) พื้นที่ดำเนินการ : ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
(4) ระยะเวลาดำเนินการ : เดือนกุมภาพันธ์- กันยายน 2566
(5) ผู้รับประโยชน์จากโครงการ : ประชาชนไทยที่เข้าร่วมโครงการและใช้สิทธิ และผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่เข้าร่วม
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com พร้อมติดตั้งเป๋าตัง โดยต้องจองห้องพักล่วงหน้าก่อนเดินทาง 7 วัน
ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิจำนวน 5 สิทธิ สำหรับประชาชนที่เคยใช้สิทธิแล้ว สามารถกดให้ความยินยอม consent ในระบบได้ เลย โดย 5 สิทธิดังกล่าว ไม่นับรวมสิทธิที่ใช้แล้วในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล เช่นเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่มุ่งให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระของประชาชน
โครงการ ฯ ยังมีแนวทางป้องกันการทุจริต : ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดให้มีระบบแสดงจำนวนห้องพักของแต่ละโรงแรม/ที่พัก หากมีการจองเกินจำนวนห้องที่แจ้งไว้ ระบบจะสามารถจำกัดการจองได้ โดยมอบให้ ททท. สำนักงานสาขาในประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ
และเพื่อป้องกันการขึ้นราคาห้องพักเกินจริง จึงให้มีการระบุในแบบฟอร์มยินยอม (consent) ให้ชัดเจน หากโรงแรมที่พักเจตนาขึ้นราคาห้องพักเกินจริง สามารถเอาผิดเรียกเงินคืน และระงับการจ่ายได้ รวมทั้งต้องได้รับโทษถึงการตัดสิทธิในการเข้าร่วมทุกโครงการของรัฐบาล รวมทั้งจะมีระบบสแกนใบหน้าของผู้ใช้สิทธิในการเชคอินเข้าพักและการใช้ e-voucher เพื่อป้องกันการใช้บัตรประชาชนผู้อื่นสวมสิทธิ
2. โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น วงเงินรวม 1,930.4348 ล้านบาท แนวทางการดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย
(1) การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยจากต่างประเทศ โดยเน้นการนำเสนอ Soft Power ผ่าน Digital Market และกิจกรรมทางการตลาด
(2) กระตุ้นท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น
(3) การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และสร้างกระแสการเดินทางภายในประเทศ ภายใต้แคมเปน Amazing Thailand, Amazing New Chapters (4) การยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว
สำหรับพื้นที่ดำเนินการ คือ จังหวัดทั่วประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์- กันยายน 2566
ซึ่งเป้าหมายของโครงการ ฯ เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.38 ล้านล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ และวันหยุดต่อเนื่องจากนักขัตฤกษ์ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม ช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับประเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการช่วงชิงโอกาสในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่รุนแรงและมาตรการเดินทางระหว่างประเทศไม่มีข้อจำกัดด้วย